ดันแม่สอด ขึ้นแท่น “ฮับ”นกเหล็ก

ทอท.ปั้นสนามบินแม่สอด-อุดร เป็นฮับจราจรทางอากาศ รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังพบตัวเลขผู้โดยสารโตต่อเนื่อง ส่วน บวท.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการจราจรทางอากาศเพื่อรองรับยอดของผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.สนใจลงทุนในสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อขับเคลื่อนการเป็นฮับการบินของอาเซียนและขยายธุรกิจของบริษัทให้ตอบสนองตัวเลขผู้โดยสารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาบริหารจัดการในอนาคตหากไม่เร่งพัฒนาสนามบินรองรับ โดยสนามบินเป้าหมายที่ต้องการใช้เป็นฮับจราจรทางอากาศของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อเป็นฮับตะวันตก สอดรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ และท่าอากาศยานขอนแก่น หรือท่าอากาศยานอุดร เป็นฮับทางภาคอีสาน โดยแผนพัฒนาดังกล่าวสามารถสนับสนุนแผนจัดการจราจรทางอากาศและขยายตัวเลขผู้โดยสารของฮับการบินแต่ละภาคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ถึงแนวทางการให้ ทอท.เข้าไปบริหารสนามบินดังกล่าว เนื่องจากการพัฒนาสนามบินต้องทำควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเชิงตลาดและธุรกิจการบิน

ในขณะที่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ในฐานะหน่วยงานควบคุมการเดินอากาศของประเทศ มีภารกิจในการให้บริการเดินอากาศ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านจราจรอากาศ บริการระบบสื่อสารและเครื่องช่วยการเดินอากาศ และบริการสื่อสารการบิน รวมทั้งบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ได้กำหนดแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศที่มีความสำคัญเพื่อลดข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ประกอบด้วย

1.โครงการจัดตั้งศูนย์บริหารจราจร ทางอากาศ เพื่อจัดการจราจรทางอากาศ ให้มีความคล่องตัว ไม่เกิดความล่าช้าหรือต้องบินวนรอทั้งการบินในประเทศและเข้า-ออกประเทศ วงเงินงบประมาณ 2,170 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบ เทคโนโลยีจราจรทางอากาศ และการพัฒนาระบบเชื่อมต่อโครงข่ายการบริหารจราจรทางอากาศระบบใหม่ทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 1,590.31 ล้านบาท

3.โครงการจัดหาอากาศยานบินทดสอบประสิทธิภาพสูงพร้อมติดตั้งระบบอุปกรณ์การบินทดสอบ เพื่อบินทดสอบรักษามาตรฐานของระบบ อุปกรณ์ นำร่อง และนำร่อน ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกในการบินด้วยระบบดาวเทียม ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ในระบบการเดินอากาศ วงเงินประมาณ 700 ล้านบาท

นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ด้านขีดความสามารถของระบบการเดินอากาศที่จำเป็นแล้วยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในทุกด้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นับเป็นการพัฒนาในทุกมิติของโครงสร้างพื้นฐานของชาติ หากได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างครบถ้วน ผลประโยชน์สูงสุดจะกลับคืนสู่ประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น