นานาสาระน่ารู้…วัณโรคปอด

วัณโรค ไม่ได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่เป็นโรคติดต่อที่รักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) มีรูปร่างเป็นแท่ง มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นต้องย้อมสีด้วยวิธีพิเศษ และดูด้วยกล้องจุลทรรศ์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อวัณโรค เชื้อนี้มีความทนต่อสภาพอากาศต่างๆได้ดี แต่ไม่ทนต่อแสงแดด

วัณโรค เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองและเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ วัณโรคปอด เชื้อวัณโรค ติดต่อโดยการแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ทางระบบหายใจ โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จามโดยไม่ปิดปากเชื้อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จามออกมา ละอองที่มีขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นดิน ส่วนละอองขนาดเล็กจะล่องลอยไปในอากาศ ผู้ที่สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ และป่วยเป็นวัณโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว  ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้ และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค เชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ปลิวในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดด จะมีชีวิตอยู่ได้นาน 8-10 วัน แสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที การทำลายเชื้อจากเสมหะที่ดีที่สุดจึงควรใช้ความร้อนเช่นการเผาทิ้ง

อาการที่สำคัญ 1. ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ 2. ไอมีเลือดปน ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ 3. เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ 4. มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำ 5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นวัณโรค 1. ตรวจเสมหะดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อวัณโรค 2. เอกซเรย์ปอด จะพบแผลวัณโรคที่เนื้อปอด

เมื่อไรควรไปตรวจ หาเชื้อวัณโรค 1. ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ 2. มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำ 3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย 4. เมื่อมีญาติหรือผู้ใกล้ชิด ป่วยเป็นวัณโรคปอด เด็กที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อโดยเฉพาะในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี 5. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต 6. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์

วัณโรค รักษาหายได้ 1. ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูง หากกินยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอใช้เวลาเพียง    6-8 เดือนเท่านั้น (ในอดีตใช้เวลารักษานาน 1 ปี 6 เดือน ถึง 2 ปี) โดยการรักษาแบบมีผู้คอยกำกับดูแลการกินยาผู้ป่วยตามขนาดทุกมื้อให้ครบถ้วนคอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำ  2. ผู้ป่วยวัณโรค หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่องจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาทำให้ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้

การปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากวัณโรค 1. ควรตรวจเช็คร่างกาย โดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2. นำเด็กแรกเกิดไปรับการฉีดวัคซีน บีซีจี ที่โรงพยาบาลทุกแห่งหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน 3. หากมีอาการสงสัยป่วยเป็นวัณโรค ควรรีบไปตรวจร่างกาย ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลงมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น 5. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด 6. เด็กเล็ก และคนชราไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยวัณโรค 7. ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่บ้าน ควรเอาใจใส่ดูแลให้กินยาอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาดยาจนครบมาตรฐานการรักษา

ฉะนั้นหากผู้อ่านมีอาการหรือเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อวัณโรคดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อค้นหาโรค เพราะวัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายขาด อย่าปล่อยให้ตัวเองป่วยเรื้อรัง และนำเชื้อโรคไปแพร่ถึงคนรอบข้าง

รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล

ร่วมแสดงความคิดเห็น