“วัดกู่ละมัก” วัดแรกของเจ้าแม่จามเทวีในลำพูน

อาณาจักรหริภุญชัย นับเป็นอาณาจักรแรกของดินแดนภาคเหนือที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านศิลปกรรม ศาสนาและการเมืองการปกครองเมื่อราวปี พ.ศ.1239 ก่อนที่จะล่มสลายและกลายเป็นอาณาจักรล้านนา

เป็นที่ทราบกันดีว่าในตำนานของการสร้างเมืองหริภุญไชยนั้นสร้างขึ้นโดยพระฤาษีสององค์ นามว่า สุเทวฤาษีจากดอยสุเทพและสุกกทันตฤาษีจากเขาสมอคอนเมืองละโว้ หลังจากที่ได้สร้างอาณาจักรหริภุญชัยเสร็จแล้ว จึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาของพระเจ้าละโว้ให้ขึ้นมาครองเมือง โดยพระนางจามเทวีทรงเสด็จลงเรือขึ้นมาตามแม่น้ำปิงใช้เวลานานกว่า 7 เดือน เมื่อกระบวนเรือได้เทียบท่า เจียงตอง หรือ เชียงทอง (ปัจจุบันคาดว่าเป็นอำเภอจอมทอง) จึงได้หยุดพักกระบวน ระหว่างนั้นมีชาวบ้านชายหญิงพากันมาดูเป็นอันมาก ซึ่งจากตำนานจามเทวีวงศ์ได้กล่าวถึงตอนนี้ว่า “เมื่อมีคนมามุ่งดูเป็นจำนวนมากพระนางจามเทวีจึงให้สาวใช้ถามคนเหล่านั้นว่า “ดูกรพ่อแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงเมืองหริภุญชัยยังประมาณมากน้อยดังหรือจัดฮอดจา” เมื่อได้ยินเช่นนั้นชาวบ้านจึงตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเจ้า แต่นี้ถึงเมืองหริภุญชัยนั้น ดังข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แลนา”
เมื่อได้ยินดังนั้นพระนางจามเทวี จึงมีรับสั่งตรัสปรึกษาแก่หมู่อำมาตย์ราชครูทั้งหลายว่า เราควรจะยับยั้งตั้งเวียงพักอยู่ ณ ที่นี้ก่อน ยังมิควรรีบร้อนเข้าไปในยามนี้ อำมาตย์ราชครูทั้งหลายก็เห็นชอบ พระนางจามเทวีจึงปรึกษาว่าเราควรจะตั้งเวียงนั้น ณ ตรงจุดใดดีเหล่าอำมาตย์ราชครูโหราจารย์ทั้งหลายจึงทูลถวายความเห็นว่า ควรจะเสี่ยงธนูตามเคยมาแต่ก่อน จากนั้นพระนางจามเทวีจึงได้สั่งนายฉมังธนูว่า “เราจักตั้งบ้านอยู่ทิศหนเหนือก้อนหินนี้ ท่านจงยิงธนูเสี่ยงมหามงคลสถานไปให้แก่เราเถิด” จากนั้นนายฉมังธนูจึงได้ตั้งพลีกรรมธนูแล้วก็ขึ้นสายพาดปืนธนู บ่ายหน้าเฉพาะทิศอุดรแล้วก็ลั่นลูกธนูออกไปแล้วมาตกตรงที่ตั้งเจดีย์ในวัดกู่ละมัก

ลูกธนูที่เสี่ยงทายได้ปักตั้งอยู่เป็นอันดี ก็ทรงทราบว่าเป็นชัยภูมิอุดมสมควรยิ่งนัก พระนางจามเทวีจึงให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาถามพระมหาเถระว่า ลูกธนูตกลง ณ ที่ใดเราควรจะทำประการใดดีก่อน พระมหาเถระจึงถวายตอบว่า มหาราชเทวีเจ้านำพระพุทธศาสนามาแต่กรุงละโว้ควรจะหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ผืนแผ่นดินหริภุญไชยก่อนซึ่งพระนางฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงทรงจัดการให้มีการสร้างพระอารามขึ้น ทรงให้ก่อมหาเจดีย์ ณ ตรงลูกธนูปักแล้วบรรจุพระบรมธาตุและสร้างพระอุโบสถ อันถือเป็นวัดแรกสุดและเก่าแก่ที่สุดกว่าวัดใด ๆ ที่เจ้าแม่จามเทวีทรงสร้างไว้ในเมืองหริภุญชัยโดยไม่ปรากฏชื่อดั่งเดิมมาก่อน
ต่อมาวัดนี้ถูกทิ้งไว้ให้รกร้าง เมื่อมีพระมหาเถระจากเมืองอื่นเดินทางมาก็ได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “รมณียาราม” แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านสมัยก่อนจะเรียกว่า “วัดกู่ละมัก” ซึ่งสันนิษฐานว่าคำว่า “ละมัก” อาจแผลงมาจากคำว่า “ลัวะ-ละว้า” เพราะพบหมู่บ้านของชาวลัวะถัดจากวัดนี้ข้ามแม่น้ำกวงไปทางทิศตะวันออกจำนวน 2-3 หลัง

เจดีย์กู่ละมักที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นองค์ใหม่ที่ ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะสร้างขึ้นครอบองค์เดิมไว้ เนื่องจากเจดีย์องค์เดิมนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมด้วยกาลเวลาที่ผ่านมานับพันปี นอกจากนี้ครูบาศรีวิชัยยังได้สร้างพระวิหารและธรรมาสที่ใช้แสดงพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นสิ่งทรงคุณค่าวิจิตรตระการตาสวยงามมาก ส่วนเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้เจดีย์รูปแบบผสม ส่วนล่างเป็นทรงมณฑปหรือทรงปราสาทแบบล้านนา ประกอบด้วยชุดฐานเขียงต่อด้วยฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นองค์เรือนธาตุ ยกเก็จสองชั้นทั้งสี่ด้าน เจาะเป็นจระนัมสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ลวดลายที่ซุ้มจระนัมน่าจะทำขึ้นในคราวที่ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะ ส่วนบนสุดเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ประกอบด้วยฐานแปดเหลี่ยมล้อมองค์เรือนธาตุโดยมีลูกแก้วอกไก่รัดที่ส่วนบน ถัดขึ้นมาเป็นชุดฐานบัวกลมสามชั้น ต่อด้วยองค์ระฆัง บังลังก์ ปล้องไฉน ปลียอดและประดับด้วยฉัตรอีกชั้นหนึ่ง
ปัจจุบันกู่ละมัก ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้ว นอกจากนี้บริเวณด้านหลังของกู่ มีร่องรอยของฐานอุโบสถที่สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับเจดีย์ด้วย โดยยังเห็นเป็นรอยของฐานทำด้วยศิลาแลง บริเวณรอบฐานอุโบสถยังปรากฏพัทธสีมาเป็นหินขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาจากดิน ชาวบ้านบอกว่าเมื่อหลายปีก่อนได้ทำการขุดรอบหิน ลึกประมาณ 3 เมตรยังไม่ถึงพื้นของพัทธสีมาเลย หลังจากนั้นพระธิติพรรณ ญาณวีโร เจ้าอาวาสวัดจึงได้ทำการก่อสร้างรั้วขึ้นรอบเขตอุโบสถเพื่อไม่ให้คนเข้าไป
วัดรมณียราม หรือ วัดกู่ละมัก แม้จะเป็นวัดแรกที่พระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปวัดนี้จึงถูกละเลย แต่เมื่อเจ้าอาวาสวัดพร้อมด้วยคณะศรัทธาได้ทำการบูรณะตกแต่งและปรับพื้นที่ให้สวยงามขึ้นแล้ว วัดกู่ละมักก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เหมือนกับว่าจะย้อนเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งที่ยังรุ่งเรืองไพบูลย์ให้ผู้คนหันมาสนใจดูแลอีกครั้งหนึ่ง.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
24/4/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น