สอน.1 จัดพิธีลงนามความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี ระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ระหว่าง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 โดยนายบุญเลิศ ห้าวหาญ กับ สถานประกอบการ ณ.โรงแรมอโมร่าท่าแพ เมื่อวันที่ผ่านมา

นายบุญเลิศ ห้าวหาญ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 กล่าวว่า พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการในครั้งนี้ เนื่องจากในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีความมุ่งหมายและหลักสูตรการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ยึดหลักระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้ในการจัดการศึกษา การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน ท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการและสถาบันอื่น

การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้จัดในมหาวิทยาลัย สถานบัน วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษากับสถานประกอบการ จะเห็นได้ว่าสถานประกอบการกับหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุนและสร้างเสริมทักษะประสบการณ์วิชาชีพให้กับผู้เรียนการอาชีวศึกษาทุกระดับมีมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพ และมาตรฐานสมรรถนะของสาขาวิชา

นายตุ๋ย สุรวษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเนหือ 1 กล่าวว่า พิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ระดับปริญญาตรี ตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษา และการประเมินผลการศึกษาและการประเมินผลการศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการของสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2556 บัญญัติไว้ว่า การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือ สถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดแลประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ประกอบด้วย สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ,สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่,สาขาดิจิตอลกราฟิก วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ,สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่,สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

ทั้งนี้ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี สามารถเรียนรู้และมีทักษะประสบการณ์จากการปฏิบัติงานด้วยการฝึก การประยุกต์ให้แนวคิด ทฤษฏี ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพทางทักษะวิชาชีพ ให้นักศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรผู้ใช้บัณฑิต และสร้างความเข้มแข็งของประเทศในการแข่งขันกับนานาประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น