รับฟังความเห็นขยายกำลัง การผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน

กฟผ. เปิดเวทีประชุมประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 เปิดเวทีประชุมประชาพิจารณ์สาธารณะ รับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานโครงการ กำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) หรือ ค.1 ซึ่งได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้น ที่อาคารหอประชุมและโภชนาคาร วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีผู้แทนหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งในเขต และนอกเขตพื้นที่โครงการฯ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมจำนวนกว่า 2,500 คน เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแต่เดิม กฟผ. ได้ยื่นแบบขอดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ที่กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ แต่ภายหลังได้มีหนังสือแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตจาก 600 เป็น 655 เมกะวัตต์ และได้ขอเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปริมาณการใช้ถ่านหิน การใช้หินปูน การใช้น้ำ ปริมาณน้ำทิ้ง ปริมาณเถ้า ปริมาณยิปซั่ม และการระบายมวลสารทางอากาศ ซึ่งทาง สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้กำหนดให้ทาง กฟผ. ต้องดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ใหม่ เพื่อให้การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเป็นไปอย่างรอบด้านและครอบคลุมผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงให้ทบทวนมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว

ดังนั้นทาง กฟผ. จึงได้จัดทำเวทีสาธารณะเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จาก 7 กลุ่ม เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการฯ รัศมี 5 กม., กลุ่มหน่วยงานรับผิดชอบศึกษาและพิจารณารายงาน EHIA, กลุ่มหน่วยงานภาคราชการ, กลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์, กลุ่มองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สถานศึกษา ศาสนสถาน นักวิชาการอิสระ, กลุ่มสื่อมวลชน และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ได้ใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 8.00 – 15.00 น. ของวันที่ผ่านมา(29 เม.ย. 60) โดยมีตัวแทนประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง รวมจำนวนกว่า 60 คน ขึ้นเวทีอภิปรายให้ข้อมูลข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานโครงการฯ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้า แต่ยังมีความกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องคุณภาพอากาศ, ปริมาณฝุ่นละออง, เสียงรบกวน, แรงสั่นสะเทือน, น้ำเสีย และในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความต้องการในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน, การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ, การพัฒนาการศึกษาแก่คนในพื้นที่, การพัฒนาระบบสาธารณูปการ สาธารณูปโภค รวมถึง การพัฒนาระบบการแพทย์การพยาบาล เป็นต้น

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. และ ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ได้ร่วมกันขึ้นเวทีกล่าวสรุปผลภาพรวมการประชุมรับฟังความคิดเห็น ค.1 ซึ่งทุกประเด็นข้อเสนอแนะจะถูกเก็บรวบรวมนำไปปรับขอบเขตในการดำเนินการศึกษากำหนดแนวทางเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีกครั้ง ก่อนจะจัดทำรายงานสรุปข้อคิดเห็นส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ และประกาศให้สาธารณชนต่างๆ ได้รับทราบต่อไป อย่างไรก็ตามการรับฟังความคิดเห็น ค.1 ครั้งนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยทางบริษัทที่ปรึกษา จะยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อเนื่องไปอีก จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ซึ่งประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นสามารถส่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยส่งถึง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 151 ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 (อาคาร ทีจีซี ชั้น 2 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7)

ร่วมแสดงความคิดเห็น