สปสช. การลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพสถานที่ติดต่อลงทะเบียน


กทม. สำนักงานเขต 30 เขต ในวัน – เวลา ราชการ (รายชื่อเขตตามภาคผนวก)
ต่างจังหวัด รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.รัฐบาลใกล้บ้าน ในวัน – เวลาราชการ

Q : ผู้ป่วยนอนรักษาโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ระหว่างนอนรักษาญาติต้องการลงทะเบียนเปลี่ยน รพ. ได้หรือไม่

A : ไม่ได้ ต้องรอให้ผู้ป่วยจำหน่ายออกจาก รพ.ก่อน จึงจะสามารถนำหลักฐานไปลงทะเบียนเปลี่ยน รพ.ได้

Q : ผู้ป่วยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ รพ. ในจังหวัดกระบี่ นอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.เอกชนนอกระบบหลักประกันสุขภาพในจังหวัดพังงาระหว่างนอนรักษาญาติต้องการลงทะเบียนเปลี่ยน รพ. มาอยู่ในพังงา
ได้หรือไม่

A : ได้ เนื่องจากตามข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ พ.ศ. 2546 กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำระหว่างรับบริการในหน่วยบริการ ให้มีผลหลังจากสิ้นสุดการรับ

บริการในหน่วยบริการครั้งนั้น เนื่องจากผู้ป่วยเข้ารับบริการกับ รพ.เอกชนนอกระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่หน่วยบริการตามข้อบังคับของ สปสช.ญาติสามารถนำหลักฐานไปลงทะเบียนเปลี่ยน รพ.ได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องพักอาศัย
จริงในจังหวัดพังงา

Q : มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จะลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพได้อย่างไร

A : ให้ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านที่พักอาศัยอยู่จริง แล้วลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพที่หน่วยรับลงทะเบียนใกล้บ้าน (หลักฐานและสถานที่รับลงทะเบียนดูข้อ 6)

Q : มีสิทธิประกันสังคม ต้องการฉีดยาคุมกำเนิด แต่สิทธิประกันสังคมไม่คุ้มครอง จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

A : ได้ เพราะการวางแผนครอบครัวโดยวิธีคุมกำเนิดชนิดชั่วคราว (ยาเม็ด ยาฉีดห่วงอนามัย ยาฝัง) เป็นบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นผู้ดูแลให้กับคนไทยทุกสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถติดต่อเข้ารับบริการดังกล่าวได้ที่ รพ. รัฐหรือเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพ

Q : เคยฝังยาคุมกำเนิดไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันต้องการมีบุตร จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการนำยาฝังคุมกำเนิดออกได้หรือไม่

A : ได้ เนื่องจากยาฝัง เป็นการคุมกำเนิดชนิดชั่วคราว เมื่อประสงค์มีบุตรก็สามารถผ่าตัดนำออกได้

Q : เมื่อ 5 ปีก่อนคนไข้ได้ฝังยาคุมกำเนิดที่ รพ.ในจังหวัดพังงา ปัจจุบันทำงานที่ กทม. จะเอาหลอดยาคุมกำเนิดออกเพราะครบกำหนด5 ปี จะใช้สิทธิได้หรือไม่ และรพ. ที่ดำเนินการให้จะเรียกเก็บค่า
ใช้จ่ายอย่างไร

A : การถอดยาฝังคุมกำเนิดสามารถถอดที่หน่วยอื่นได้ เนื่องจากยาดังกล่าวมีอายุการใช้งาน 5 ปี โอกาสที่ประชากรจะย้ายที่อยู่และไปถอดยาฝังที่หน่วยอื่นจึงเป็นไปได้สูง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ สปสช.จึงเหมาจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายในการฝังและถอดยารวมอยู่ในรายการเดียวเบิกครั้งเดียวตอนฝังยาโดยใช้แนวคิดการเหมาจ่าย

Q : การตรวจสุขภาพประจำปี ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

A : ได้ โดยจะเป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยง การซักประวัติพฤติกรรมสุขภาพและตรวจสุขภาพทั่วไปตามความจำเป็นและประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

Q : ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับลูกสาวอายุ 7 ปีใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

A : ไม่ได้ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวไม่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทย

ข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑ เชียงใหม่ ติดตามรายการ ” สุขถ้วนหน้ากับหลักประกันสุขภาพ ” ทางคลื่นวิทยุ สวท.เชียงใหม่ FM 93.75 Mhz. ทุกวันจันทร์ เวลา 11.15 น. ถึง 12.00 น.

ร่วมแสดงความคิดเห็น