พายุถล่มอ.แม่วางพินาศ

เร่งตรวจสอบความเสียหายพายุลูกเห็บพัดถล่มแม่วินเสียหาย100กว่าหลังคาเรือน พื้นที่เกษตรเสียหายบางส่วน

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 9 พ.ค.60 นางเกศรินทร์ ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่บ้านทุ่งหลวง หมู่ 2 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสียหายหนักที่สุดจากเหตุพายุลูกเห็บพัดถล่มในพื้นที่เมื่อช่วงค่ำวานนี้ จำนวน 4 หมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่พายุพัดหลังคาบ้านเรือนประชาชนเสียหาย และมีลูกเห็บตกใส่จนเป็นรูในส่วนบ้านทุ่งหลวง จำนวน 130 ครัวเรือน และที่วัดทุ่งหลวง ได้รับความเสียหายที่สุด โดยได้รับความเสียหายที่หอระฆัง กุฏิพระสงฆ์ ต้นไม้ล้มทับพังเสียหายหลายจุดพระเณรและชาวบ้านต้องช่วยเก็บเศษกระเบื้องตัดต้นไม้ออกเพื่อเคลียร์พื้นที่ นอกจากนี้ยังมีจุดที่เสียหายคือบ้านแม่มูต หมู่ 6 มีบ้านสร้างใหม่ใกล้เสร็จพังเสียหายหนึ่งหลัง แต่สะพานที่เข้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าวถูกน้ำพัดพาจนขาด กำลังเร่งประสานหน่วยงานอื่นมาช่วยเหลือซ่อมแซมอยู่ โดยช่วยเหลือเบื้องต้นโดยชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ปกครอง ใช้ไม้พาดเพื่อเดินข้ามก่อน บ้านสบวิน หมู่ 9 และบ้านห้วยโป่ง หมู่ 11 หลังคาถูกพัดปลิวเสียหายกว่า 50 ครัวเรือน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วินจะได้ทำการช่วยเหลือต่อไป

นายสุทิน จันทร์งาม นายอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดพายุประสบภัยจำนวน 4 หมู่บ้านคือ บ้านทุ่งหลวง บ้านแม่มูต บ้านสบวิน และบ้านห้วยโป่ง โดยส่วนใหญ่เป็นหลังคาเรือนราษฏรเสียหายรวมทั้งหมด 150 หลังคาเรือน รวมกระเบื้องเสียหาย 3 พันแผ่น ตนเองก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ อบต.แม่วิน ให้การช่วยเหลือเริ่มนำกระเบื้องช่วยเหลือแล้ว พื้นที่การเกาตร ต้นลำไยเสียหาย 50 กว่าต้น ไร่เสาวรสจำนวน 2 ไร่ ภาพรวมเสียหายจากเหตุดังกล่าวเกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที มอบหมาย อบต.แม่วิน ช่วยเหลือโดยทางอำเภอแม่วางเป็นผู้ดูแล

นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ แถลงสรุปเหตุพายุฤดูร้อน มาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้เสียหายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจิสด้าประกาศว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 จะมีฝนตกหนักและเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มเกิดเหตุพายุฤดูร้อนและลูกเตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดที่เกิดเหตุพายุฤดูร้อน หรือวาตภัยหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลความเสียหายต่อเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนประชาชน

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบวาตภัยรวม 16 อำเภอ และ 2 อำเภอล่าสุดคือ ดอยเต่าและฮอด โดยเฉพาะพื้นที่ 6 ตำบล ของอำเภอดอยเต่าที่ประสบวาตภัยหนักรวม 2 วันติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคมนี้ มีประชาชนประสบภัยรวม 2,301 ครัวเรือน 12,682 คน โดยจังหวัดเชียงใหม่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติรวม 18 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวม 7,587 ครัวเรือน 29,719 คน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 3,275 ไร่ เสียชีวิต 2 คน จากเหตุต้นไม้ล้มทับและฟ้าผ่า”

อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2560 จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนั้น นายธนา กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยประสานให้ทุกพื้นที่เตรียมการกักเก็บน้ำ พร้อมให้จัดทำแก้มลิง หลุมขนมครก คลองไส้ไก่ เพื่อส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่ ด้วยการแบ่งปันน้ำให้ครอบคลุม รวมทั้งการรณรงค์ปลูกพื้ชที่ใช้น้ำน้อย

ร่วมแสดงความคิดเห็น