สืบสานงานศิลป์ 211 ปี “สล่าไม้ชาวยอง”

ในจำนวนกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ไท” นั้น มีประวัติศาสตร์และวิถีการดำเนินชีวิตอยู่ในดินแดนแถบเอเชียบูรพามาเนินนาน อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคน “ไท” เป็นอารยชนที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ด้วยชนกลุ่มนี้มีลักษณะที่พิเศษทั้งการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมรวมถึงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์

ในอดีตชนชาติไท แบ่งแยกตัวเองออกตามชื่อของหมู่บ้านที่อาศัย ส่วนใหญ่จะพบในแถบพื้นที่ลุ่มทางตอนใต้ของจีน กลุ่มชาวยองก็นับเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่มีชื่อรวมอยู่ในกลุ่มชนชาวไท มีประวัติศาสตร์ของการดำเนินชีวิตและแบบแผนประเพณีอันเป็นของตนเองมาช้านาน กลุ่มชนนี้เป็นเสมือนต้นบรรพบุรุษของประชาชนชาวลำพูน

ประวัติศาสตร์ของเมืองยองก็คล้ายกับประวัติศาสตร์ของดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ มักเต็มไปด้วยสงครามการกวาดต้อนผู้คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนที่มีต่อการสร้างชุมชนเมืองและพัฒนาขึ้นเป็นรัฐ หลังจากการกวาดต้อนจากเมืองยองมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2348 แล้ว ยังคงมีผู้คนจากเมืองยองอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูนอีกหลายครั้ง แต่หลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนและสามารถสืบค้นเรื่องราวได้นั้นมีอยู่เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ ในปี พ.ศ.2356 และปี พ.ศ.2395

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2348 นั้น ชาวยองกลุ่มแรกที่เข้ามาได้แยกย้ายกันออกไปตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ในเมืองลำพูน จะมีเพียงผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าคำฝั้น ประมาณ 500 คนและมาจากเมืองลำปางพร้อมเจ้าบุญมาอีก 500 คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตกำแพงเมืองหรือใกล้ตัวเมือง ซึ่งกลุ่มคนที่มาจากเมืองยองประกอบด้วย เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง รวมถึงช่างฝีมือต่าง ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกเจ้าเจ็ดตน กำหนดให้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่งตรงข้ามกับกำแพงเมือง

การกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยกำหนดประเภทของไพร่ที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือหรือไพร่ชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่นชาวเขินที่หายยาอพยพมาจากเมืองเชียงตุงเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินมาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมเชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือกและช้างม่อย ส่วนไพร่ที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมืองและมีชาวยองบางส่วนให้อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูน

ปี พ.ศ.2348 เมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คนยองถูกกวาดต้อนมาอยู่มีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น อนุชาของพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นองค์แรก เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกุลเจ้าเจ็ดตนเป็นพระยาอุปราชเมืองลำพูน การแบ่งไพร่พลคนยองในการตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยู้ เมืองหลวย ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีหน้าที่ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน

อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวยองจะเป็นการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนตามแนวลำน้ำที่เหมาะสมในการเกษตรเป็นสำคัญ จากหมู่บ้านหลักในลุ่มแม่น้ำกวงบ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตองได้ขยายตัวออกไปเป็นบ้านหลิ่งห้า(ศรีบุญยืน) เขตลุ่มแม่น้ำปิงห่างจนถึงบ้านหนองหมู บ้านป่าลาน ป่าเห็ว เป็นต้น นอกจาการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูนแล้ว ยังปรากฏมีชาวไตเขินจากเชียงตุงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสันดอนรอมในเขตนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้อีกด้วย ไพร่พลที่อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูนนี้ต่อมาได้สืบลูกสืบหลานกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของลำพูน

ปัจจุบันลูกหลานคนยองได้กระจายถิ่นฐานอาศัยอยู่ทั่วไปในแผ่นดินล้านนา ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ประกอบอาชีพหลากหลายไปตามยุคสมัย ทว่ายังมีกลุ่มคนยองบางกลุ่มที่ยังดำรงสืบสานงานศิลป์ผืนถิ่นคนเมืองยองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ดังเช่น เพชร วิริยะ สล่าไม้แกะสลักผู้สืบเชื้อสายมาจากคนยองสันกำแพงแห่งบ้านจ๊างนัก อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน สล่าเพชรเติบโตขึ้นในท่ามกลางครอบครัวที่ยากจน ต้องต่อสู้ด้วยตนเองมาเกือบตลอดทั้งชีวิต จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปหัดแกะสลักไม้จากอาจารย์คำอ้าย เดชดวงตา ศิลปินอีกผู้หนึ่งที่มีจินตนาการในการแกะสลักช้างที่สวยงามไม่แพ้กัน สล่าเพชรบอกว่า เริ่มเรียนการแกะสลักไม้จากอาจารย์คำอ้าย อยู่นานถึง 4 ปีก่อนจะผันตัวเองมาเป็นข้าราชการอยู่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในหน้าที่อาจารย์ผู้สอนการแกะสลักไม้ จากนั้น 2 ปีจึงได้ลาออกจากราชการและเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีช้าง ไม่ว่าจะเป็น ปางช้างบ้านปางหละ จังหวัดลำปาง หมู่บ้านช้างที่จังหวัดสุรินทร์ หรือแม้แต่ตามคณะละครสัตว์เพื่อรวบรวมประสบการณ์และศึกษาถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของช้างอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะกลับมาบ้านเกิดและเริ่มทำงานแกะสลักช้างไม้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

ที่บ้านจ๊างนักแห่งนี้ สล่าเพชร วิริยะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการสร้างผลงานการแกะสลัก นอกจากที่นี่จะเป็นที่เก็บรวบรวมผลงานแล้ว ยังเป็นที่ฝึกการแกะสลักไม้ให้กับบรรดาลูกศิษย์ที่มีความสนใจงานแกะสลักอีกด้วย ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมผลงานการแกะสลักเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากจะนับผลงานที่จัดแสดงอยู่ที่นี่แล้ว คงมีประมาณกว่าพันชิ้น ซึ่งเป็นผลงานแกะสลักช้างไม้ในท่วงท่าอิริยบทต่าง ๆ ผลงานบางชิ้นที่จัดแสดงเป็นผลงานที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น

ปัจจุบันกลุ่มศิลปินล้านนาที่แกะสลักช้างไม้มีประมาณสิบกว่ากลุ่มเท่านั้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ส่วนผลงานของกลุ่มแกะสลักบ้านจ๊างนัก ถือได้ว่าอยู่ในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว โดยเฉพาะการแกะสลักช้างสามารถสื่ออารมณ์ของช้างได้อย่างมีชีวิตชีวาและดูเหมือนจริงมาก งานทุกชิ้นมีการให้รายละเอียดที่ดูสมจริง เช่นผิวหนังของช้าง ดวงตาที่ถูกตกแต่งด้วยขนตา และเส้นเลือดของช้างที่ปรากฏอยู่บริเวณใบหู เหล่านี้ยิ่งทำให้เราได้สัมผัสงานแกะสลักที่เหมือนจริง

ขณะที่สล่าไม้ชาวยองอีกท่าน ผู้คร่ำหวอดในงานแกะสลักไม้มานานกว่า 40 ปี สมพล หล้าสกุล ผู้มีสายเลือดคนยองบ้านเหมืองจี้ใหม่ อ.เมือง จ.ลำพูน สล่าสมพล เริ่มต้นแกะสลักไม้เมื่อราวปี พ.ศ. 2512 จากลุงคำ ฝั้นพรม ช่างฝีมือแกะสลักไม้พื้นบ้าน ซึ่งแกะสลักพระพุทธรูปไม้ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 2 นิ้ว ในราคาองค์ละ 2 บาท กระทั่งอายุ 17 ปี จึงได้ออกแสวงหาประสบการณ์ด้วยการไปรับจ้างแกะสลักที่ร้านมิ่งฟ้าเชียงใหม่ ซึ่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายสินค้าไม้แกะสลัก หลังจากนั้นสล่าสมพล จึงได้หันไปสนใจการแกะสลักไม้แผ่นเป็นพระพุทธรูป พระอริยสงฆ์ รวมถึงรูปเหมือน หรือที่เรียกว่า “งานพุทธศิลป์”

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับสล่าสมพล หล้าสกุล คือการได้มีโอกาสแกะสลักรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขนาดเท่าพระองค์จริง สล่าสมพล หล้าสกุลได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติคุณเป็นจำนวนมาก อาทิ ปี พ.ศ.2543 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมอบโล่และเกียรติบัตรเป็นผู้มีผลงานดีเด่น ด้านศิลปินดีเด่น สาขาช่างฝีมือ ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2555 ได้รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาศิลปกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ปัจจุบันภูมิปัญญาสล่าไม้ชาวยอง ขาดการสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลัง น่าเสียดายที่คนสมัยใหม่ไม่ได้สนใจในการสานต่อภูมิปัญญาการแกะสลักไม้เหล่านี้อีกเลย กระทั่งการขาดคลังข้อมูลอันได้แก่แหล่งเรียนรู้ยองศึกษา ห้องสมุด หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ของคนยองก็ยังไม่มีให้เห็น การพูดคุยเสวนาเรื่องการย้ายถิ่นฐานของคนยองในรอบ 212 ปี ที่ผ่านมา จึงเป็นการพูดถึงแต่ข้อมูลเรื่องราวของคนยองในอดีตเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ล่วงพ้น ทว่าการมองไปในอนาคตข้างหน้าของลูกหลานคนยองให้ได้มีแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวยอง รวมถึงการได้มีแหล่งข้อมูลหนังสือตำรา จึงน่าจะเป็นแนวทางในการวางรากฐานให้คนยองรุ่นใหม่ได้เดินไปอย่างมั่นคง บนโลกที่แวดล้อมไปด้วยกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวยองที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย ถ้าพวกเราเจ้าของภูมิปัญญา เจ้าของความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษชาวยองไม่ได้สืบทอดดูแล ไม่นับถึงความงามของภาษาพูดอันไพเราะ ที่นับวันจะหาคนสืบทอดได้น้อยลงไปทุกที

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น