พาณิชย์เร่ง คลอดต้นแบบ ร้านประชารัฐ

พาณิชย์เดินหน้าจัดอบรม “ร้านค้าประชารัฐ” ผลักดันให้เกิดร้านค้าต้นแบบ 200 แห่งในปี2560 วางเป้าหมาย 3 ปีอยู่ที่ 10,000 ร้านค้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดอบรมหลักสูตรให้กับร้านค้าประชารัฐ ภายใต้โครงการของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ได้งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือชุมชน จัดให้มีร้านค้าประชารัฐกว่า 19,000 ร้านทั่วประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปอบรม พัฒนาร้านค้าประชารัฐ ในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และแข่งขันได้ เป้าหมายในปี 2560 อยู่ที่ 200 ร้านค้าต้นแบบ โดยจะเริ่มเดินหน้าอบรมในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ และวางเป้าหมายขยายต่อภายใน 3 ปีให้ได้ 10,000 ร้านค้าตามเป้าหมายให้ได้

ทั้งนี้ หลักสูตรและการพัฒนาร้านค้านั้น กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปมีส่วนช่วยในเรื่องของการพัฒนาร้านค้าให้มีคุณภาพ สร้างการรับรู้ และความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ ความต้องการสินค้าของผู้บริโภค การสร้างจุดแข็งของร้านค้า เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการอบรมให้ความรู้ อีกทั้งสามาระเชื่อมโยงหรือขยายต่อไปสู่งตลาดกลางชุมชนได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จุดเด่นของร้านค้าประชารัฐนั้น จะมีโลโก้เพื่อเป็นจุดเด่นว่าร้านค้าดังกล่าวเป็น ร้านค้าประชารัฐ อยู่อยู่ในโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี ตนต้องการให้โครงการนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ สำหรับสินค้าที่จะจำหน่ายใน ร้านค้าประชารัฐ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นสินค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าราคาถูกได้ เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะเห็น ร้านค้าประชารัฐ เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านั้น นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดสสว. เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีนั้น ได้เห็นชอบจัดสรรเงินจากกองทุนสสว.จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ผลักดันโครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน จัดตั้งร้านค้าประชารัฐในสถานีบริการน้ำมันบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จำนวน 148 แห่ง ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าโอท็อป และวิสาหกิจชุมชนมีสถานที่จำหน่ายสินค้าถาวร รวมทั้งปรับมาตรการสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด

โดยการจัดสรรเงินดังกล่าวจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นไป มีระยะเวลาดำเนินการถึงสิ้นปี 2561ซึ่งจะมีการกันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับการอุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 148 แห่ง ในขณะที่สถานีบริการน้ำมันปตท.จะสนับสนุนสถานที่ตั้ง ไม่คิดค่าเช่า โดยได้มีการวางเป้าหมายหรือผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการร้านค้าประชารัฐไว้ในปี 2559 จะต้องมีจำนวนสินค้าที่วางขายอย่างต่ำ 7.4 พันรายการต่อปี และสูงสุด 3 หมื่นรายการต่อปี โดยคิดจาก 1 ร้านมีสินค้าวางขาย 50 รายการเป็นอย่างต่ำ และจะมีจำนวนประชาชนที่ร่วมผลิตสินค้า 1.48 แสนรายต่อปี และมีจำนวนชุมชนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าชุมชนละ 1 สินค้า จำนวน 7.4 พันชุมชนต่อปี มีสินค้าได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ปีละ 500 รายการทั้งนี้ จากการดำเนินงานทั้งหมดในช่วง 3 ปี(2559-2561) จะทำให้ชุมชนมีรายได้ปีละ 50 ล้านบาท และทำให้ร้านค้าประชารัฐมีรายได้ต่อแห่งประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือนสามารถจ้างแรงงานในการจำหน่ายสินค้าได้ปีละ 18 ล้านบาท หรือ 54 ล้านบาทในช่วง 3 ปี ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้ภายในระยะเวลา 3 ปี
“โครงการร้านค้าประชารัฐ ดำเนินการภายใต้การบูรณาการความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนการสร้างร้านค้าประชารัฐ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยไม่คิดค่าเช่า กรมการพัฒนาชุมชน และ สสว. ร่วมกันคัดสรรสินค้าจากโอท็อปและวิสาหกิจชุมชน โดยปรับมาตรฐานและรับรองคุณภาพสินค้า รวมทั้งช่วยดูแลการบริหารจัดการของร้านค้าประชารัฐ เช่นการจัดหาบุคลากร และการขนส่งสินค้า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ชุมชนที่ส่งสินค้ามาขาย”

นางสาลินี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บอร์ดสสว.ยังอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนอีก 1 พันล้านบาท เพื่อนำไปจัดตั้งกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีสำหรับให้สสว.ไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีและธุรกิจการเกษตรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งสสว.จะให้การช่วยเหลือโดยจะคัดเลือกจากลูกค้าธนาคารของรัฐที่มีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ในที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป หรือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

โดยจะวินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาปัญหาที่จำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งในด้านการผลิต และการจำหน่าย และหากเอสเอ็มอีรายใด มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจต่อไป และยังมีศักยภาพเพียงพอ สสว. จะประสานงานกับเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งในกรณีที่เอสเอ็มอีได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม สสว. จะพิจารณา ให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. เป็นเงินกู้ระยะยาว ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย

ขณะที่โครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ทำกิจการอยู่แล้วให้เติบโตได้ยิ่งขึ้น สสว. จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวินิจฉัยในเชิงลึกเป็นรายกิจการและหาทางช่วยปรับปรุงการผลิต การให้บริการ และการจำหน่าย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการปรับปรุงหรือขยายกิจการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น