คืบหน้าคูเมืองสระมรกต ล่าสุดกรมชลฯ พร้อมเทศบาลฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เตรียมลดระดับน้ำ-เติมน้ำใหม่ เพื่อล้างคูเมือง

คืบหน้าคูเมืองเชียงใหม่ กรมชลประทาน ร่วมประชุมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พร้อมเตรียมทำ MOU กำหนดปฏิทินในการปล่อยน้ำล้างคูคลอง ขณะที่การแก้ไขปัญหาล่าสุด เตรียมลดระดับน้ำลง วันละ 30 ซม. คาดใช้เวลา 1 สัปดาห์ ก่อนปล่อยน้ำใหม่เข้ามาชะล้าง มั่นใจปัญหาคลี่คลายได้แน่นอน

จากกรณีที่โลกโซเชียลมีเดีย ได้แชร์เรื่องราวน้ำในคูเมืองที่มีสีเขียวเข้ม และส่งกลิ่นเหม็นคาว เนื่องจากสาหร่ายที่มีลักษณะเป็นตะกอนเล็กๆ แพร่กระจายไปทั่ว ตั้งแต่บริเวณช่วงแจ่งกะต๊ำ ยาวไปจนถึงบริเวณของแจ่งกู่เฮือง อีกทั้งยังมีปลาตายลอยอืด ซึ่งทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีประ ชาชนในพื้นที่จำนวนมากมีความวิตกกังวลว่า น้ำในบริเวณดังกล่าวจะเป็นน้ำเสียและเป็นอันตราย และส่งผลต่อภาพลักษณ์ ทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองเชียงใหม่ ตามที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 พ.ค.60 ที่ห้องประชุมสำนักปลัด ทน.เชียงใหม่ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.ชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ และ นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ของ ทน.เชียงใหม่ โดยมี นายชาตรี เชื้อมโนชาญ รองนายก ทน.เชียงใหม่ และ นายไพศาล สุรธรรมวิทย์ เลขานุการนายก ทน.เชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยภายหลังการประชุมในเวลาต่อมา ทั้งหมดได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณแจ่งกะต๊ำ และบริเวณโดยรอบทั้งหมดของคูเมืองเชียง ใหม่ เพื่อติตามสถานการณ์ปัญหา และการดำเนินการแก้ไข ซึ่งล่าสุดได้เริ่มมีการปล่อยน้ำเสียออกไปและผันน้ำใหม่เข้ามาเติมแล้วบางจุด

โดยทาง นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.ชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องน้ำของคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทางกรมชลประทานเองในฐานะ เป็นผู้รับผิดชอบปล่อยน้ำเข้ามาจากคลองส่งน้ำแม่แตง โดยทางกรม ชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการประชุมหารือร่วมกับทาง ทน.เชียงใหม่ และได้ร่วมกันลงตรวจพื้นที่ โดยจุดบริเวณแจ่งกะต๊ำ ถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของคูเมือง ทั้งนี้วิธีการแก้ไขประเด็นแรกคือ จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำที่คุณภาพไม่ดีออกไปให้หมดก่อน โดยจะอาศัยวิธีการค่อยๆ ระบายออกไป โดยการลดระดับน้ำวันละไม่เกิน 30 ซม.

ซึ่งระดับน้ำที่มีอยู่บริเวณดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 2 เมตรเศษ ดังนั้นอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ สาเหตุที่ต้องค่อยๆ ลดระดับน้ำก็เนื่องจากว่า หากมีการลดระดับน้ำอย่างรวดเร็ว จะทำให้มีผลต่อกำแพงเมือง เพราะอาจเกิดการสไลด์ตัว จึงจำเป็นต้องค่อยๆ ลดลงเพื่อให้ดินแห้งตัว นอกจากนี้หลักการปัญหาที่เกิดขึ้นคือจะต้องนำน้ำใหม่เข้ามาเติมแทนน้ำเก่า โดยมีปริมาณทั้งหมด 200,000 ลบ.ม. โดยจะเติมมาตั้งแต่บริเวณคูเมืองฝั่งด้านหน้า รพ.เชียง ใหม่ราม ซึ่งเป็นจุดสูงสุดแล้วไล่ลงมา ดังนั้นหลักการที่สำคัญคือต้องพยายามถ่ายน้ำเสียที่มีอยู่ตอนนี้ออกไปก่อน

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมร่วมกันกับทาง ทน.เชียงใหม่ ก็ได้มีข้อสรุปว่าจะทำ MOU ร่วมกันระหว่างสำนักชลประทานที่ 1 กับทาง ทน.เชียงใหม่ โดยมีวิธีการแก้ไขเป็น 2 ระยะคือ ระยะสั้นจะแก้ไขโดยถ่ายน้ำเสียออกไปก่อนแล้วเติมน้ำดีเข้ามา ส่วนในระยะยาวก็จะกำหนดเป็น MOU ร่วมกัน โดยกำหนดปฏิทินว่าทันทีที่มีน้ำเช่น ในช่วงฤดูฝน ก็จะหมุนน้ำเข้ามาล้างคูคลอง อาทิ คูเมืองและคลองแม่ข่า และทางเทศบาลก็มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบประตูน้ำอยู่ และหากมีการกำหนดปฏิทินที่แน่ชัด  ก็จะกำหนดที่ระบบอย่างแน่ชัด และไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใดผู้หนึ่ง และทางกรมชลประทานเองก็จะสนับสนุนน้ำตามวันและเวลาที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายไปในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น