กรมการจัดหางานเตือน จ้างต่างด้าว รีบขอใบ CI พ้นกำหนดไร้ใบอนุญาต โทษปรับหนักสุด 8 แสน

กรมการจัดหางาน ย้ำนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา รีบพาแรง งานไปตรวจสัญชาติ เพื่อรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) และรับการ ตรวจลงตราวีซ่าเพื่อเปลี่ยนสถานะให้เป็นแรงงานที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2561 เผยขณะนี้ มีแรงงานเมียนมารับเล่ม CI ไปแล้วกว่า 100,000 คน

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และผู้ติดตามที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรชมพู) ที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 31 มีนาคม 2561 นั้น จะต้องรีบไปดำเนินการตรวจสัญชาติกับทางการเมียนมา เพื่อรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) และตรวจลงตรา (VISA) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และขออนุญาตทำงานก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการอนุญาต โดยมีขั้นตอนการตรวจสัญชาติคือ แรงงานขอหนังสือออกนอกพื้นที่จังหวัด ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด และนำบัตรประจำ ตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรชมพู) ยื่นชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ 7-Eleven ซึ่งสามารถเลือกสถานที่ที่ประสงค์จะไปตรวจสัญชาติได้ และเดินทางไปตามกำหนด พร้อมนำใบเสร็จรับเงินและบัตรสีชมพูไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ตรวจสัญชาติ โดยเปิดดำเนินการระหว่างวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. ให้บริการ จำนวน 6 ศูนย์ 5 จังหวัด คือ 1.จังหวัดสมุทรสาคร เลขที่ 69/30 หมู่ 1 ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสถานีขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร เทศบาลตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 2.จังหวัดสมุทรปราการ เลขที่ 1467 หมู่ 1 ถนนเทพารักษ์ ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 3.จังหวัดเชียงราย เลขที่ 9 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 4.จังหวัดตาก เลขที่ 298 หมู่ 2 ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 5.จังหวัดระนอง เลขที่ 89/150 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จากนั้นเมื่อแรงงานได้รับ CI แล้ว ให้รีบไปตรวจลงตรา (VISA) Non L-A ณ สำนัก งานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด และยื่นขอใบอนุญาตทำงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานภายใน 15 วัน หลังจากได้รับการตรวจลงตรา (VISA)

ภายหลังจากระยะเวลาการอนุญาตทำงานสิ้นสุด หากพบว่านายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวฯ ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 ถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 2,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 8 พฤษภาคม พ.ศ.2560 พบว่า มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาชำระเงินผ่าน counter service จำนวน 123,902 คน ได้รับเล่ม CI แล้วจำนวน 100,411 คน ในขณะที่มีแรงงานเมียนมาจดทะเบียนบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรชมพู)ในประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 788,007 คน

นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายจ้าง สถานประกอบการ หรือแรงงานต่างด้าวมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ร่วมแสดงความคิดเห็น