ยุติปัญหาที่ดิน_สร้างแล้วศูนย์ฯสินค้าเชียงของ_เปิดเอกชนร่วมทุน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่าจากกรณีกรมการขนส่งทางบกมีโครงการจะสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ตั้งอยู่หน้าด่านพรมแดน อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเชื่อมถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร โดยโครงการยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2553 โดยเคยมีกรณีปัญหาการจัดหาที่ดินนั้น ล่าสุดทางกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และมีรายงานว่าคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 16 พ.ค.นี้ มีมติรับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แล้ว
โดยนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยที่ จ.เชียงราย ว่าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2553 โดยช่วงเวลาที่ผ่านมานอกจากจะออกแบบก่อสร้างแล้วยังได้ดำเนินกระบวนการเจรจาเรื่องที่ดินเพราะการก่อสร้างต้องใช้ที่ดินจำนวน 330 ไร่ 18 ตารางวา ขณะที่ที่ดินหน้าด่านพรมแดน อ.เชียงของ ดังกล่าวมีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน นส.3 ที่ดินปฏิรูปเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีการเจรจาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีแต่เหลือเพียงบางรายเท่านั้นที่ยังไม่ยินยอมซึ่งก็ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมต่อไปเพราะถือว่าได้ผ่านกระบวนการเวณคืนที่ดินและนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อการก่อสร้างตามกฎหมายแล้ว
“ศูนย์ดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว โดยเป็นจุดตรวจสอบ ณ พื้นที่ควบคุมร่วมกันและพัฒนาการขนส่งสินค้าจากจีนที่ผ่านมาทางถนนอาร์สามเอ ภายในมีทั้งสำนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถทำได้เสร็จ ณ จุดเดียว คลังสินค้า อาคารอื่นๆ ที่่เกี่ยวข้อง โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ” นายกมล กล่าวและว่า


รูปแบบของศูนย์จะเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานครบทั้ง CIQ คือ พิธีการศุลกากร (Custom) การตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) และผ่านด่านตรวจกักกันพืชและสัตว์ (Quarantine) ทำให้การขนส่งสินค้าไปมาสามารถเข้าใช้บริการที่ศูนย์เพียงแห่งเดียวและในอนาคตก็คงจะมีการหารือกับทางด่านพรมแดนด้าน สปป.ลาว เพื่อให้การตรวจสอบสินค้าและยานพาหนะร่วมกัน ณ ด่านเดียวกันต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์ยังออกแบบรองรับระยะที่ 2 เพื่อรับระบบรางในอนาคตตามโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย อีกด้วย
นายกมล กล่าวว่าโครงการมีการตั้งงบประมาณเอาไว้ทั้งหมด 2,265.0655 ล้านบาท โดยเป็นค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์วงเงิน 779.9615 ล้านบาท ค่าศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดและการบริหารจัดการโครงการ 27.88 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษา 8.54 ล้านบาท ดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนด้านการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสม 15 ล้านบาท และคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าร่วมทุน 5.364 ล้านบาท ทำการก่อสร้างระยะที่ 1 จำนวน 1,406.02 ล้านบาท และควบคุมงานก่อสร้างอีก 22.3 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปีตั้งแต่ปี 2560- 2562 ด้วยงบประมาณ 2,265.0655 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการระยะที่ 1 จะมีการสร้างอาคารดำเนินการ ลานเปลี่ยนหัวลาก คลังสินค้า ฯลฯ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ปีละกว่า 27,000 ตัน และรองรับปริมาณสินค้าได้วันละกว่า 6,652 ตัน รถยนต์บรรทุกวันละ 262 คัน สินค้าที่จะมีการขนมากคือประเภทผัก ผลไม้ สินแร่ ปูน เคมีภัณฑ์ ทองแดง ฯลฯ ขณะที่มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินกรณีอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return หรือ IRR) 12.3% และมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิ (Net Present Value หรือ NPV) 58 ล้านบาท และความคุ้มค่าทางการเงินกรณี IRR 15.1% และ NPV 0.03 ล้านบาท
รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงของแจ้งว่าในปี 2559 มีการนำเข้าสินค้ามูลค่า 5,983,089,945.05 บาท ส่วนใหญ่เป็นผักสด ดอกไม้ ผลไม้ ถ่านลิกไนต์ ฯลฯ และส่งออกสินค้ามูลค่า 14,611,274,840.56 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด สินค้าอุปโภคบริโ๓ค น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ และตั้งแต่เดือน ต.ค.2559-มี.ค.2560 มีการนำเข้ามูลค่า 2,494,989,198.76 บาท และส่งออกมูลค่า 7,475,285,474.58 บาท.

ร่วมแสดงความคิดเห็น