เครือข่ายชุมชนเชียงใหม่ ผนึกกำลังเปิดเวทีระดมความเห็นแนวทางพัฒนาเมืองเป็นมรดกโลก

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พ.ค.60 ที่อาคารเอนกประสงค์ วัดล่ามช้าง อ.เมืองเชียงใหม่ ได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นภาคประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินการในโครงการทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก โดยมี รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมสัน ธีรภาพวงศ์ นำเสนอภาพรวมของโครงการฯ ซึ่งมีประเด็นในการนำเสนอในเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการฯ การระบุและนำเสนอแนวคิดที่ยื่นเสนอเป็นเขตมรดกโลกและความโดดเด่นเป็นสากล ของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการทำงานในระยะที่ 2 ของคณะทำงานโครงการ นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นนอย่างมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมโครงการ ในหัวข้อ “เราอยากให้เชียงใหม่เมืองมรดกโลกเป็นอย่างไร” ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีเครือข่ายชุมชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ทางด้าน รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นเวทีที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่ได้มีการนำพื้นที่ซึ่งมีอยู่ 2 พื้นที่คือ พื้นที่เวียงเชียงใหม่ และพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย นอกจากนี้ยังมีการทำแผนบริหารจัดการ เช่น แผนบริหารจัดการงานสถาปัตยกรรม การบริหารจัดการเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว แผนบริหารจัดการชุมชน เป็นต้น เพื่อมาระดมความคิดเห็นร่วมกัน โดยในหลายๆ อย่างมีความจำเป็นที่จะต้องระดมความคิดเห็นกันและ ไม่ใช่เป็นเพียงการดำเนินงานของใครเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้ก็มีประชาชนจากหลากหลายชุมชน มาเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อมาร่วมหารือระดมความคิดเห็นในการที่จะผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลกที่มีคุณค่าโดยเกณฑ์มรดกโลกเป็นเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าความโดดเด่นของมรดกที่ยื่นเสนอเป็นมรดกโลก โดยคณะโครงการได้ศึกษา ค้นคว้า และระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ล้านนาคดี การอนุรักษ์ และพัฒนาเมือง รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลกทั้งชาวไทยและต่างชาติจนได้กรอบแนวคิดคุณค่าของมรดกที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลของเมืองเชียงใหม่ตรงกับเกณฑ์การเป็นมรดกโลกใน 3 เกณฑ์ คือ เกณฑ์การแสดงออกถึงการแลกเปลี่ยนคุณค่าต่างๆ ของมนุษย์ในช่วงระยะหนึ่ง หรือภายในพื้นที่วัฒนธรรมหนึ่งของโลกในแง่พัฒนาการทางสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ผังเมือง หรือารออกแบบภูมิทัศน์ นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ที่เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียว หรืออย่างน้อยมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดทางวัฒนธรรมหรือของอารยธรรมที่ยังดำรงอยู่หรือสูญไปแล้ว และเกณฑ์การเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร กลุ่มสถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยีซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่ง หรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สำหรับ แผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก คือ แผนบริหารจัดการที่เป็นข้อตกลงที่ว่าด้วยระบบการบริหารจัดการดูแลพื้นที่และขอบเขตของแหล่งมรดกโลกระหว่างหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารและดูแลของรัฐกับองค์การยูเนสโก แผนบริหารจัดการนี้มีเป้าประสงค์ในการประสงค์รักษา อนุรักษ์ และส่งเสริมคุณค่าที่โดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่ที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พร้อมทั้งยังเป็นแนวทางที่จะผสานมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันเป็นหัวใจของการพัฒนาที่เป็นสากล ดังนั้นกระบวนการสร้างแผนบริหารจัดการจึงมีความสำคัญทั้งมิติทางวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องผสมผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น