บ้านแม่สาบ ตำนานชุมชน “ไตลื้อ”

ในจำนวนกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ไท” นั้น มีประวัติศาสตร์และวิถีการดำเนินชีวิตอยู่ในดินแดนแถบเอเชียบูรพามาเนินนาน อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคน “ไท” เป็นอารยชนที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ด้วยชนกลุ่มนี้มีลักษณะที่พิเศษทั้งการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมรวมถึงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์

ในอดีตชนชาติไท แบ่งแยกตัวเองออกตามชื่อของหมู่บ้านที่อาศัย ส่วนใหญ่จะพบในแถบพื้นที่ลุ่มทางตอนใต้ของจีนเรื่อยมาจนถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มชนชาวไทมีประวัติศาสตร์ของการดำเนินชีวิตและแบบแผนประเพณีมาช้านาน ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า “ไท” หรือ “ไต” นั้นเป็นชนชาติเก่าแก่ที่มีอารยธรรมของตนเอง ถึงขนาดมีข้อสันนิษฐานว่า “ไท” หรือ “ไต” เป็นชนชาติแรก ๆ ของโลกที่มีภูมิปัญญาในการปลูกข้าวเป็นอาหาร รวมถึงแบบแผนในการประดิษฐ์ลวดลายผ้าทอที่ได้รับการยอมรับถึงพลังวิริยภาพของการรังสรรค์ในระดับโลก

 ปัจจุบันบรรดาชนชาติไทเหล่านี้กลายเป็นเพียง ชนกลุ่มน้อย หรือพลเมืองชั้นสองในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ไตเขินในเชียงตุง ไตลื้อในสิบสองปันนา หรือแม้แต่ไตลาวหลวงพระบาง ล้วนเคยมีอาณาจักรและราชสำนักที่ยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของตนเองมาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นการเดินทางเพื่อย้อนทวนรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของกลุ่ม “คนไต” จึงเป็นสิ่งสะท้อนเพียงส่วนเสี้ยว

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระบุว่า ชาวไตลื้อ ดำรงความเป็นชนชาติมานานกว่า 2,000 ปี แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไทลื้อนั้นถูกสถาปนาขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้าอาณาจักรสุโขทัยไม่นานนัก

แต่เดิมชุมชนของชาวไตลื้อมีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาชาวไตลื้อมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนทางภาคเหนือของไทย บริเวณที่ชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานมากที่สุดเห็นจะได้แก่ จังหวัดพะเยาและน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของเชียงใหม่ เชียงรายและลำปางพื้นที่ อ.สะเมิง ถือเป็นถิ่นที่อยู่ของคนไตลื้อกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะบ้านแม่สาบเหนือ ซึ่งตามตำนานในธรรมคัมภีร์วัดแม่สาบ ระบุว่า ปี พ.ศ.2302 มีคนเมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่สะเมิงใต้ครั้งแรกประมาณ 10 คน ได้แก่ นายเถิ้ม นายปัญญา นายตาปม นายหนานนิน นายตามน นายอ้าย นายไชยา นายโกระใบและนายฟอง ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าศาลา ต่อมาภายหลังทั้ง 10 คนได้แยกกันไปตั้งหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตสะเมิงใต้ โดยนายเถิ้มได้รับการแต่งตั้งจากพญาราชให้เป็นหัวหน้าปกครองอยู่ที่บ้านแม่สาบ ต่อมาปี พ.ศ.2350 พ่อเฒ่าคุ่น หัวหน้าชาวไตลื้อบ้านสา จากเมืองสิบสองปันนาได้ชักชวนชาวไตลื้ออพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านแม่สาบ ตั้งแต่นั้นมาบ้านแม่สาบจึงกลายเป็นชุมชนไตลื้อที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอสะเมิง

ชาวไตลื้อมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านไตลื้อคือจะมีบ่อน้ำไว้ประจำแต่ละบ้านนอกจากนั้นก็ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย โดยปกติแล้วชาวไตลื้อจะประกอบอาชีพทำไร่นา หลังจากหมดสิ้นฤดูทำนาแล้วผู้หญิงไตลื้อก็จะพากันจับกลุ่มทอผ้าซึ่งผ้าทอไตลื้อนั้นถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามไม่แพ้ผ้าทอจากที่อื่น

การแต่งกายของชาวไตลื้อนั้นดูเหมือนจะเลือนหายไปจากสังคมปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากงานเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้นที่เราจะเห็นชาวไตลื้อ พากันแต่งกายในชุดไตลื้อ หรือในช่วงวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา ผู้ชายไตลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาวโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไตลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามและนิยมโพกศรีษะด้วยผ้าขาวหรือชมพูการแวะเวียนไปเยี่ยมพี่น้องคนไตลื้อที่บ้านแม่สาบ ทำให้เราได้พบพี่ชายพี่สาวชาวไตลื้อหลายคน ที่ออกปากเชื้อเชิญให้ไปเที่ยวบ้าน น้ำใจไมตรีเช่นนี้แม้จะหาแทบไม่ได้ในสังคมเมืองกรุง แต่ยังพบได้ในสังคม “ไต” แท้ที่สงบงามอย่างชุมชนไตลื้อแห่งบ้านแม่สาบ

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น