หลองข้าวเจ้าหลวงลำพูน

ปัจจุบันหลังหมดยุคการทำนาหลวงแล้ว ไร่นาต่าง ๆ แปรสภาพกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้างก็กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การทำนาจึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมชนบท ทว่ายุ้งข้าว หรือ หลองข้าวของเจ้าหลวง ยังปรากฏให้เห็นเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่ครั้งหนึ่ง หลองข้าวเหล่านี้เคยอยู่รับใช้ระบบเกษตรกรรมไทย ในวันนี้ไม่มีข้าวในหลอง ไม่มีผืนนาของเจ้าหลวง หลองข้าวเหล่านี้กลายเป็นเพียงอาคารไม้รกร้างว่างเปล่า

ผืนดืนบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำปิงกับแม่น้ำกวงรอยต่อเชียงใหม่และลำพูน นับเป็นที่ราบกว้างใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะอย่างยิ่งในการเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว กระทั่งบริเวณดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่ข้าวอู่ข้าวของล้านนา

ตำนานการทำนาเริ่มมีมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี ส่วนใหญ่ผืนนาเหล่านี้มักเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าผู้ครองนคร ในสมัยโบราณเจ้าพระยาหรือขุนนางผู้ใหญ่จะมีลำดับชั้นศักดินาเพื่อบอกถึงบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าผู้ครองนคร เจ้าพระยา ขุนนาง จะถือครองกรรมสิทธิ์ไร่นาจำนวนต่าง ๆ ลดหลั่นกันไป ผืนนาเหล่านี้ก็จะถูกแบ่งให้ราษฏรเช่าทำนา เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็จะแบ่งให้กับเจ้าของนาครึ่งหนึ่งที่เหลือจึงเป็นของชาวบ้าน ระบบการทำนาแบบนี้เรียกว่า “ทำนาผ่า”

ในสมัยของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย ถือได้ว่ามีการทำนาผ่ามากที่สุด เพราะผืนนาต่าง ๆ รอบเวียงลำพูน ได้แก่ ทุ่งนาหลวง ทุ่งนาบ้านหนองช้างคืน ทุ่งนาบ้านจักรคำภิมุข ส่วนใหญ่เป็นของเจ้าหลวงลำพูนแทบทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากที่บ้านหนองช้างคืนมีห้างนาเจ้าของเจ้าหลวงจักรคำฯปรากฏร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “ห้างเจ้า” หรือ “ห้างนาเจ้า” ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน ในระหว่างที่ออกมาเก็บส่วยค่าเช่านา ห้างนาเจ้านี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2472 มีรูปแบบเป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยม 1 หลัง อาคารหลังเล็กอีก 2 หลัง ยุ้งข้าวใต้ถุนสูง 1 หลัง ภายในบริเวณจะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารผลไม้ต่าง ๆ นานาชนิด นอกจากนั้นยังมีปลาหลากหลายพันธุ์อีกด้วย ห้างนาเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเหลือเพียงอาคาร 2 หลัง บนเนื้อที่ 86 ไร่เศษ

ส่วนที่บ้านจักรคำภิมุข ก็ยังมีหลองข้างของเจ้าหลวงจักรคำ ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2469 พ่ออุ้ยเสาร์ซึ่งเป็นคนของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (พ.ศ.2454 – 2486) ได้เข้ามาอาศัยทำนาให้เจ้า ต่อมา ปี พ.ศ.2470 เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ได้เสด็จไปเยี่ยมชมการทำนาและเห็นว่า ที่หมู่บ้านนี้มีคนอาศัยอยู่เป็นปึกแผ่นประมาณ 20 หลังคาเรือน เจ้าหลวงจักรคำ จึงได้ให้เจ้าน้อยแสน ธนัญชยานนท์ มาดูแลแบ่งปันข้าวจากชาวนา ซึ่งท่านได้สร้างคุ้มเจ้าน้อยแสนขึ้นอยู่ถัดจากห้างนาของเจ้าหลวงจักรคำ นอกจากนั้นเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้สร้างคุ้มห้างนา โดยนำบ้านเก่าจำนวน 2 หลังมาสร้างใช้ช่างหลวงจากในเวียง เพื่อใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จมาตรวจตราการทำนา (ต่อมาบ้านหลังนี้เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ยกให้พ่อหลวงเมือง วงศ์ชัยธง ผู้ดูแลการทำนาที่เจ้าจักรคำฯแต่งตั้งขึ้น)

ปัจจุบันหลังหมดยุคการทำนาหลวงแล้ว ไร่นาต่าง ๆ แปรสภาพกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร บ้างก็กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การทำนาจึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมชนบท ทว่ายุ้งข้าว หรือ หลองข้าวของเจ้าหลวง ยังปรากฏให้เห็นเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่ครั้งหนึ่ง หลองข้าวเหล่านี้เคยอยู่รับใช้ระบบเกษตรกรรมไทย ในวันนี้ไม่มีข้าวในหลอง ไม่มีผืนนาของเจ้าหลวง หลองข้าวเหล่านี้กลายเป็นเพียงอาคารไม้รกร้างว่างเปล่า

หลองข้าวเจ้าหลวงที่ถือว่ามีขนาดใหญ่และสมบูรณ์แบบหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นหลองข้าวของเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน บุตรของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์กับเจ้าแม่แขกแก้ว ปัจจุบันเป็นของเจ้าวรเทวี บุตรีของเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน มีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าหลวงจักรคำ

ลุงอิ่นแก้ว น้อยหารี ผู้ที่เคยช่วยงานอยู่ในคุ้มเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน เล่าว่า หลองข้าวแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 60 ปีมาแล้ว สร้างจากไม้สักทั้งหลัง เป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูง ภายในแบ่งออกเป็นห้องสำหรับใช้เก็บข้าวของเจ้าหลวงจากทุ่งนาหลวง ทุ่งนาบ้านทา ทุ่งนาบ้านแป้น โดยชาวบ้านจะขนข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วใส่เกวียนมาเก็บไว้ที่นี่
ลุงอิ่นแก้ว ยังเล่าต่ออีกว่า ข้าวที่เก็บไว้ในหลองจะนำมาใช้รับประทานในหมู่ญาติพี่น้องและคนรับใช้ ส่วนที่เหลือก็จะนำไปขายให้กับคนจีน ย่านสถานีรถไฟลำพูนซึ่งจะมารับซื้อข้าว สมัยนั้นราคาลิตรละ 1.50 บาท ส่วนข้าวหักจะซื้อในราคาลิตรละ 50 สตางค์ แต่ภายหลังหมดยุคการทำนาหลวงแล้ว หลองข้าวแห่งนี้จึงว่างเว้นจากการเก็บข้าวมานานถึง 20 ปี
ปัจจุบัน หลองข้าวหลวงของเจ้าวรทัศน์ ณ. ลำพูน ปรากฏให้เห็นร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต และอาจเรียกได้ว่าเป็นหลองข้าวเจ้าหลวงที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์เพียงไม่กี่แห่ง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น