เปิดตัวเลขแห่กู้กองทุนSMEs ยอดพุ่งทะลุหมื่นล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผู้ประกอบการ 76 จังหวัด แห่ยื่นขอกู้เงินกองทุน SMEs 20,000 ล้านบาทเพียบ 1 เดือนยอดพุ่ง 3 พันราย วงเงินกู้ 14,000 ล้านบาท พร้อมเร่งบูรณาการจับมือหน่วยงานระดับจังหวัดทำประชาสัมพันธ์ให้ข่าวกระจายออกไปในวงกว้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแหล่งเงินทุนมาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ” หรือ กองทุน 20,000 ล้านบาท 20,000 ล้านบาท ภายใต้วงเงินช่วยเหลือ SMEs ทุกโครงการรวมกันทั้งหมด 38,000 ล้านบาทนั้น หลังจากเปิดให้เอสเอ็มอีมายื่นคำขอ ขณะนี้ผ่านไป 1 เดือนในภาพรวมถือว่าพอใจในศักยภาพกองทุนทั้งหมด ขณะนี้มียอดคำขอจำนวน 3,000 ราย วงเงินกู้ 14,000 ล้านบาท และจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป
หลังผ่านการอนุมัติแล้วจะมีการติดตามประเมินความคืบหน้าตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีว่าผู้ประกอบการแต่ละรายได้นำเงินไปใช้ประโยชน์ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่น นำไปสั่งซื้อเครื่องจักรตามที่ระบุไว้ 3 เดือนหรือไม่ นำไปใช้ขยายการผลิตให้สินค้ามีมูลค่าสูงหรือไม่ ได้เข้าโครงการอบรม ส่งเสริมหรือไม่ หากพบรายใดนำเงินที่ได้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ทางศูนย์ช่วยเหลือภูมิภาคหรืออุตสาหกรรมจังหวัดจะเข้าไปแนะแนวทางต่อไป
แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ” หรือกองทุน 20,000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือผ่านศูนย์ภาคประจำจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 864 ราย วงเงินกู้ประมาณ 4,480 ล้านบาทแต่มีเอสเอ็มอีผ่านการอนุมัติจากอนุกรรมการพัฒนากองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐชุดที่ 1 ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2560 แล้ว 161 ราย วงเงินกู้ 483 ล้านบาท ตามขั้นตอนการพิจารณาผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ชุดที่ 1 เพื่อประเมินศักยภาพ
หลังจากนั้นผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจะถูกส่งต่อไปเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านการเงินกองทุนฯ ชุดที่ 2 เพื่อวิเคราะห์ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนประมาณ 2,000 ราย ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณานี้ หากผ่านจะส่งกลับไปให้ชุดที่ 1 อนุมัติทันที ซึ่งขณะนี้มียอดคำขอเข้ามาทุกจังหวัดทุกวัน คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมียอดปล่อยวงเงินกู้ตามเป้าประมาณ 5,000 ล้านบาท
“จากการประเมินผลเบื้องต้นสำหรับเอสเอ็มอีที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขตามที่หลักเกณฑ์กำหนดไว้ ส่วนใหญ่ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ดังนั้นจึงบูรณาการร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเป็นกรณีพิเศษเสร็จภายในครึ่งวันจากเดิมใช้เวลาเป็นเดือน นอกจากนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าวทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับสถาบันเครือข่ายกว่า 30 หน่วยงานเพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ YouTube และลงพื้นที่กระจายข้อมูลสร้างความเข้าใจให้เอสเอ็มอีมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการที่เอสเอ็มอีไม่พร้อมทั้งเอกสาร ศักยภาพ จะได้เตรียมตัวก่อนเข้ามายื่นคำขอด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
ล่าสุดได้หารือกับทางกระทรวงการคลัง ถึงการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.กองทุน 20,000 ล้านบาท ให้เป็นกองทุนถาวรซึ่งในเบื้องต้นวงเงินดังกล่าวจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 18,000 ล้านบาทไว้ใช้ในการปล่อยกู้ ขณะที่อีก 2,000 ล้านบาท จะใช้ในส่วนของการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดว่าภายในเดือนกันยายนจะเห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและจะประกาศใช้ในปี 2561
ดังนั้น ในช่วง 2 ปีนี้ได้จัดทำแผนล่วงหน้าของกองทุนไว้ เนื่องจากการปล่อยกู้วงเงินจะมีกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี แต่ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก ดังนั้น กองทุนจำเป็นต้องมีเงินสำรองไว้เพื่อปล่อยกู้ระยะยาวตลอด 3 ปี ดังนั้น ปีแรก 2560 จะอยู่ที่วงเงิน 20,000 ล้านบาทนี้ ส่วนปี 2 ในปี 2561 ได้ของบประมาณเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท และปีที่ 3 ในปี 2562 ของบประมาณเพิ่มเติมอีก 4,000 ล้านบาท และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 กองทุนจะได้รับการชำระคืนจากเอสเอ็มอี
“ด้วยศักยภาพของกองทุนที่สามารถปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ SMEs ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ การที่เรามีแผนชัดเจนร่วมบูรณาการเครือข่ายจนเป็นรูปธรรมมั่นใจว่ากองทุน ดังกล่าวจะต้องเป็นกองทุนถาวรได้ในปี 2561 แน่นอน”
สำหรับแผนการโรดโชว์ ภายใต้โครงการคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ กำหนดนำร่องไว้ 8 จังหวัด ได้แก่ (1) จ.สงขลา ครอบคลุมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 60
(2)จ.เชียงใหม่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน (3) คือ จ.ชลบุรี กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สมุทรปราการ สระแก้ววันที่ 14 มิถุนายน
(4) จ.นครปฐม กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 9 มิถุนายน (5) จ.กระบี่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พังงา ภูเก็ต ระนอง ตรัง กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง วันที่ 28 มิถุนายน (6)จ.อุดรธานี กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ วันที่ 30 มิถุนายน (7) จ.พิษณุโลก
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ วันที่ 5 กรกฎาคม (8) จ.อุบลราชธานี กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกตอนล่าง ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร วันที่ 13 กรกฎาคม

ร่วมแสดงความคิดเห็น