เกษตรที่ 6 กับการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ วิสาหกิจชุมชนชีววิถี

ต.น้ำเกี๋ยน จาก Smart Group สู่ Smart Produce
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” ( 2017 : Changing Towards Smart Agricuture)มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจังหวัดน่านได้ขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม จาก Smart Group สู่ Smart Produce ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดงานการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยระบบส่งเสริมการเกษตร ณ วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ในวันที่ 8 มิถุนายน 2560
ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การพัฒนาคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน และสำนักงานฯซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้ขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยระบบส่งเสริมการเกษตร T& V System (Training and Visiting System) ร่วมกับการ บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้งานส่งเสริมการเกษตรเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายตามนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ 1.ผลผลิตมีคุณภาพและมาตรฐาน 2.มีตลาดรองรับ 3.ต้นทุนการผลิตลดลง 20 % 4.ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20 % และวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ประสบความสำเร็จ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาด้านต่างๆด้วยกระบวนการกลุ่ม ร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ประสบความสำเร็จเป็น Smart Group และได้นำเทคโนโลยี/นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเป็น Smart Produce ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องสำอางและสปาสมุนไพรภายใต้แบรนด์ Chewa และ Chewana ที่ผู้บริโภคและตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความนิยมและยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน สร้างชื่อเสียงให้สมุนไพรไทย ซึ่งในปี 2560 นี้ วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ดังนั้นทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน พร้อมด้วยองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดงานดังกล่าว เพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกร

ด้านนายนเรศ ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่าวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้จัดตั้งและจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 เริ่มจาก สมาชิก 79 คน ได้ร่วมทุน จำนวน 82,300 บาท เพื่อผลิตน้ำยาอเนกประสงค์และแชมพูสมุนไพรใบหมี่ผสมดอกอัญชันตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษโดยใช้สมุนไพรในท้องถิ่น เพียงหวังนำไปใช้ในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายและเพื่อสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว จากปากต่อปากที่กล่าวถึงคุณภาพที่ดีใช้ได้ผล ทำให้ผู้คนสนใจ ซื้อนำไปใช้ ทำให้สมาชิกเกิดรายได้และเป็นกำลังใจแรงใจนำไปสู่การพัฒนามาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ บุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ การผลิต/การแปรรูป การควบคุมคุณภาพ/มาตรฐาน การบรรจุภัณฑ์และการตลาด ผลิตภัณฑ์สินค้าสมุนไพรของวิสาหกิจฯได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค และน่าภาคภูมิใจคือเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) การผลิตและแปรรูปสมุนไพร ของจังหวัดน่าน ที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร/ผู้ที่สนใจแบบครบวงจร พร้อมนี้ได้เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่และการท่องเที่ยวเกษตร
นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่าปัจจุบันมีสมาชิก 675 คน มีทุนเรือนหุ้น 160,500 บาท มีสินทรัพย์ 2.1 ล้านบาท เงินทุน 1,644,785 บาท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ผลิต/จำหน่าย มีหลากหลายประเภทคือ แชมพูสมุนไพร ครีมนวดผมสมุนไพร สบู่เหลวอาบน้ำสมุนไพร สบู่ก้อนล้างหน้าสมุนไพร โทนเนอร์เช็ดหน้าสมุนไพร โลชั่นบำรุงผิวสมุนไพร เกลือขัดผิวสมุนไพรน้ำยาเอนกประสงค์สมุนไพร ลูกประคบ/ยาอบสมุนไพร ยาหม่องสมุนไพร สมุนไพรป้องกันยุง ชาชงสมุนไพร สารสกัดสมุนไพร สมุนไพรตากแห้ง เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าที่โดดเด่นและลูกค้าให้ความนิยม ได้แก่ แชมพูและครีมนวดผม สมุนไพรใบหมี่-อัญชัน-ขิง สบู่เหลวน้ำนมข้าว ครีมบำรุงผิวน้ำนมข้าวและเกลือขัดผิวขมิ้นชันผสมน้ำผึ้ง และรายได้ ปี 2558 ที่ผ่านมา ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า 1,372,540 บาท

ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานวิสาหกิจ
1.ทำให้เกิดรายได้ โดยกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกสมุนไพร 80 รายนำสมุนไพรมาจำหน่าย
ให้กลุ่มเฉลี่ยเป็นเงิน 2-3 แสนต่อปี สมาชิกฝ่ายผลิตมีรายได้เดือนละ 6,000 – 10,000 บาท สมาชิก
ได้รับเงินปันผลสิ้นปี ในอัตราร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้น แก่คนในครอบครัวและชุมชน
2.ลดรายจ่าย สมาชิกและชาวบ้านในชุมชน สามารถผลิตและแปรรูปสมุนไพร ใช้ใน
ครอบครัวลดค่าใช้จ่าย
3.เพิ่มมูลค่า โดยการแปรรูป และใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม
4.สร้างและขยายโอกาสการตลาด จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ภายใน/ต่างจังหวัด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าสะดวกซื้อ ตลาด Online และตลาดต่างประเทศ
5.สุขภาพแข็งแรง สมาชิกและคนในชุมชน ปลูกพืชผักสมุนบริโภคปลอดภัยจากสารเคมี
6.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ได้พื้นที่สีเขียว ป่าครอบครัว ป่าชุมชน ลดการเผา
7.ชุมชนเข้มแข็ง เกิดความรักสามัคคี ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมติดตามตรวจสอบ ร่วมรับผลประโยชน์

ด้วยพื้นฐานที่มีการรวมกลุ่มกันที่ดีเป็นทุนเดิมและมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ด้านสมุนไพรและหมอพื้นบ้าน จึงนำมาสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการแปรรูปสมุนไพร โดยยึดกระบวนการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมาภิบาลและยึดมาตรฐานคุณภาพ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จึงเป็นธุรกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง สามารถสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม สุขภาพจิตใจและร่างกาย ทุกคนในชุมชน กินอิ่ม นอนอุ่น และฝันดี พร้อมที่จะตื่นขึ้นมาพัฒนาการเกษตรในยุคไทยแลนด์ 4.0

…..กุณฑล เทพจิตรา สสก.6 / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น