ดีเอสไอแฉ เล่ห์นายทุน ขึ้นทะเบียนสวนป่า ตรวจพบมีโฉนดที่ดิน ออกโดยมิชอบด้วย กม.

ดีเอสไอพบเล่ห์นายทุน ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินและนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่า ตัดไม้สักทองไปเกือบล้านต้น ด้านราษฎรในพื้นที่ บ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม แฉ นายทุนเข้ามากดดัน กว้านซื้อที่ดิน เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่า ที่ออกเอกสารเกินจริง ไม่พอมีการนำเจ้าหน้าที่รัฐมาข่มขู่ราษฎรยากจน ล่าสุดนายทุนไปแจ้งความเอาผิดชาวบ้านแต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีการถอนแจ้งความทั้งที่เป็นคดีอาญายอมความกันไม่ได้

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 นายอารินทร์ ทิวาประดับดาว อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105 หมู่ 1 ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า นายทุน ได้มีการเข้ามาข่มขู่ราษฎร เพื่อให้ขายที่ดิน หากไม่ขายก็จะปิดทางเข้าออก ทำให้ราษฎรเดือดร้อนอย่างหนัก จนจำเป็นต้องขายที่ทำกินให้กับนายทุน ต่อมาทราบข่าวว่านายทุนได้นำที่ดินไปขึ้นทะเบียนสวนป่า มีพื้นที่กว่า 200 ไร่ แต่ข้อเท็จจริงที่ดินที่มีการกดดันซื้อจากราษฎรมีไม่ถึงขนาดนั้น

นายสวาท วงศ์แพทย์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 131 หมู่ 1 ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า กลุ่มนายทุนมีการขอซื้อไม้ในสวนของราษฎร และมีการตัดไม้ออกไปจากพื้นที่ ซึ่งนานมาหลายปีแล้ว ตอนหลังราษฎรพากันกลัวเจ้าหน้าที่ เพราะมีการมาข่มขู่ ซึ่งทางนายทุน บางครั้งมีการนำข้าราชการคนมีสีมากดดันราษฎร เพื่อบีบให้ขายที่ดิน เดิมราษฎร เข้ามาทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2559 กลุ่มนายทุนได้มีการไปฟ้องร้องราษฎรกว่า 20 ราย โดยตำรวจ สภ.ขุนยวมเป็นคนมาแจ้งและเรียกราษฎรไปสอบปากคำ แต่มาภายหลังได้ข่าวว่ากลุ่มนายทุนได้มีการถอนฟ้องไปแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ระบุว่า กลุ่มนายทุนจะหาไม้ที่อยู่ตามธรรมชาติและต้นไม้สักในที่ดินของราษฎร ซึ่งบางส่วนมีเอกสารสิทธิ และบางส่วนไม่มีเอกสารสิทธิ แล้วนำไปออกเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นเท็จไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วนำที่ดินที่มีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปออกเอกสารสิทธิเกินพื้นที่จริง แล้วนำไปขอขึ้นทะเบียนสวนป่าเพื่อตัดไม้สักทองในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้พบว่า กลุ่มขบวนการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการกระทำความผิด ซับซ้อนขึ้น โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขึ้นทะเบียนสวนป่า 444 แห่ง คิดเป็นเนื้อที่ 7,849-2-40 ตารางวา โดยมีการตัดต้นไม้สักทองไปกว่า 816,786 ต้น

จากสอบสวน พบว่า กลุ่มขบวนการนี้ เริ่มจากหาต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ในขนาดที่ต้องการ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินเอกชน และบางส่วนมีเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าไม้ แล้วออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นไปขอขึ้นทะเบียนที่ดินว่าเป็น “สวนป่า” เพื่อตัดต้นไม้ดังกล่าว

ซึ่งทาง ดีเอสไอ ใช้เวลาสืบสวน ลงพื้นที่หาข่าว จนได้ข้อมูลในราย “นางทองใส ญาณวุฒิ” เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2545 นำโฉนดเลขที่ 758 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 8 ไร่เศษไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสวนป่าต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะนายทะเบียนที่ดินสวนป่า แต่ต่อมานางทองใส ขอถอนคำร้องและยื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าอีกครั้งเป็นรอบที่สอง และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยยังไม่รับขึ้นทะเบียน

พ.ต.ท.ประวุธ เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 กรมป่าไม้ ส่งทีม เข้าตรวจสอบพื้นที่ เนื่องจากนางทองใส ขออนุญาตทำไม้สักออก ผลปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้ายทั้งแปลง กรมป่าไม้จึงสั่งการให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลคือ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินตรวจสอบ ส่วนสำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ตรวจสอบเช่นกัน และพบว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 758 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอน ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งลงวันที่ 29 ก.ย.2558 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า และดีเอสไอ มีหนังสือแจ้งข้อมูลไปยังกรมป่าไม้ ดำเนินคดีผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

นอกจากนั้นทาง ดีเอสไอ ยังตรวจสอบกรณี นายวิสุทธิ์ บุรุษภักดี นำเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวม 14 แปลง รวมเนื้อที่ 391 ไร่ มาขอจดทะเบียนสวนป่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2536 มีไม้ที่ขอขึ้นทะเบียน 156,200 ต้น และผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน รับขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 แต่จากการสืบสวน ดีเอสไอ พบว่า พื้นที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย 10 แปลง เนื้อที่ 278 ไร่ ครอบคลุมไม้ 111,100 ต้น และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ 4 แปลง เนื้อที่ 112 ไร่ และสำนักงานที่ดินอำเภอขุนยวม ไม่พบเอกสารที่เป็นสารบบที่ดินทั้ง 14 แปลง และยังพบว่า ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2538 คดีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายชาติชาย ศรีชนบท เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอขุนยวม ซึ่งเป็นจำเลย โดยพิพากษาว่า น.ส.3 ก. เลขที่ 524 ต.เมืองปอน เป็นเอกสารปลอม และวันที่ 23 ธ.ค.2546 พิพากษาว่า น.ส.3 ก. อีก 12 แปลง เป็นเอกสารปลอม ปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าทั้ง 13 แปลง

พ.ต.ท.ประวุธ บอกว่า กรณีนี้ ดีเอสไอ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติและความมั่นคงของประเทศ อธิบดี ดีเอสไอ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง จึงอนุมัติให้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนกรณีที่สาม การขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า
ส่วนรายของ นางจตุพร กวีวัฒน์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 กรมป่าไม้ ตรวจสอบพบข้อสังเกตว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 นางจตุพร นำโฉนดที่ดินเลขที่ 8436 มาเป็นหลักฐานการขอขึ้นทะเบียน อ้างว่าเนื้อที่ 1 ไร่ มีไม้สักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ 11 ต้น อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ในขณะที่โฉนดที่ดินออกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตรวจสอบแล้วปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 8436 อยู่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปายทั้งแปลง ต่อมา วันที่ 22 สิงหาคม 2555 ผู้ว่าราชการ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ออกหนังสือรับรองการแจ้งตัดหรือโค่นไม้ที่ได้จากการทำสวนป่าให้แก่นางจตุพร แต่วันที่ 10 กันยายน 2557 สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหนังสือแจ้งว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย “แต่ก็ได้มีการตัดไม้ออกไปจากพื้นที่หมดแล้ว

สำหรับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ล่าสุดในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนบ้านเมืองปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โดยนัดพบกันที่หน่วยป้องกันรักษาป่า หางปอน ชึ่งข่าวคืบหน้าจะได้นำเสนอกันต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น