สกู๊ปพิเศษ…กินอะไรลงท้อง..!! ระวังเจอของปลอม

ในยุคสมัยนี้ซึ่งเป็นยุคการแข่งขันหลายๆด้านด้วยกันไม่เฉพาะด้านเทคโนโลยีเท่านั้นมีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหน้าตาเฉย ส่วนในเรื่องอาหารการกินได้มีของปลอม ของลอกเลียนแบบ ของผสมออกมาวางจำหน่ายกันอย่างมากมายทั้งกะปิ น้ำปลา น้ำดื่ม สุรา ข้าว ไข่ ปลาหมึก และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเมื่อเราบริโภคเข้าไปแล้ว ย่อมส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเรานั้นเอง

อย่างเมื่อหลายวันก่อนที่ จ.ลำพูน ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบ จ.ลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าซาง ร่วมกันเข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 87 ม.3 ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า บ้านหลังดังกล่าวลักลอบผลิตน้ำผึ้งผสมไว้เพื่อจำหน่าย จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ เมื่อไปถึงได้พบกับ นางวิลัย เชื้อจินดา เจ้าของบ้าน พร้อมของกลางเป็นแบะแซ 10 ปี๊บ น้ำผึ้งเลี้ยง 1 ถัง 200 ลิตร ขวดเปล่า 5 ลัง ลังละ 12 ขวด น้ำผึ้งผสมที่บรรจุแล้ว 10 ลัง โดยนงวิลัยยอมรับว่า น้ำผึ้งผสมทั้งหมดนี้เป็นของตน โดยผลิตน้ำผึ้งผสมจริง ด้วยการนำน้ำผึ้งส่วนหนึ่งมาต้มผสมรวมกับแบะแซและใส่น้ำตาล จากนั้นได้มีการฉีดหัวเชื้อแต่งกลิ่นน้ำผึ้งเพื่อให้ได้กลิ่นน้ำผึ้งแท้ และนำมาบรรจุขวดหรือถุงตามแต่ที่ลูกค้าสั่งแบบไหน โดยจำหน่ายในลักษณะขายส่งให้กับร้านค้าของป่า หรือร้านขายของฝากบริเวณถนนสายเชียงใหม่-เชียงดาว ซึ่งมักจะมีชาวบ้านนำพืชผักพื้นบ้านและของป่าออกมาจำหน่าย โดยส่งให้ร้านค้าในราคา 60 บาท และร้านค้าจะนำไปวางขายต่อในราคาขวดละ 150 บาท
และเข้าทำการตรวจค้นบ้าน นางนารีรัตน์ ศรีสุข อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 5 ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จากการตรวจค้น ไม่พบมีใครอยู่ในบ้าน พบเพียงลังเปล่าและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำผึ้งปลอม รวมทั้งลำโพงที่เลี้ยงผึ้งบางส่วน

จุดที่ 3 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นบ้านของนายธีระศักดิ์ เชื้อจินดา อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ 3 ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตรวจสอบพบอุปกรณ์การผลิตน้ำผึ้งปลอม รวมทั้งน้ำผึ้งปลอมนับ 100 ขวด น้ำตาลทรายขาว ที่ใช้ในการผสมกับ แบะแซและน้ำผึ้งแท้จำนวนหนึ่ง

ทางด้าน เภสัชกร จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า การเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ เจ้าครัวเรือนผลิตน้ำผึ้งปลอมปนจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 2 ข้อหาด้วยกัน ข้อหาที่ 1 กระทำความผิดในการ ปลอมปนอาหาร คือ มีเจตนานำน้ำผึ้ง แท้ผสมกับแบะแซ น้ำตาลทราย เพื่อให้ดูว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ซื้อก็คงจะคิดว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ จึงซื้อไปบริโภค แม้จะไม่มีอันตรายมากนักแต่ก็เป็นการปลอมขึ้นมา จึงมีความผิด ข้อหาที่ 2 การผลิตน้ำผึ้ง ต้องขออนุญาต มีฉลากบอกชัดเจนว่า เป็นน้ำผึ้งแท้ หรือผสม เพื่อให้ผู้ซื้อนั้นเข้าใจ และที่สำคัญจะต้องได้รับอนุญาตและเครื่องหมาย อย.ด้วย ซึ่งรายนี้ไม่มีเลย จึงจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ ตำรวจก็คงจะออกหมายเรียกไปพบและดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วน “แบะแซ” ที่มีการนำมาผสมกับน้ำผึ้งนั้น แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้วแบะแซคืออะไร ได้มาจากอะไร มีลักษณะอย่างไร มีกี่ชนิด และนิยมนำไปทำอะไรบ้าง

“แบะแซ” (Corn syrup) หรืออาจเรียกได้ว่า กลูโคสไซรัป (Glucose syrup) หรือกลูโคสก้อน เป็นสาร ชีวิโมเลกุลที่ได้มาจากการย่อยแป้งมันสำปะหลัง จะมีลักษณะเหนียวใส หนืด มีทั้งแบบใสและสีเหลืองน้ำตาล ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อช่วยทำให้น้ำตาลรัดตัวเร็วขึ้น แก้ปัญหาน้ำตาลตกผลึกหรือเป็นทราย

ชึ่ง “แบะแซ” มีหลายคุณภาพด้วยกัน โดยแบะแซที่คุณภาพดีจะได้มากจากการย่อยของแป้งข้าวโพด แต่แบะแซ ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้กันมักจะเป็นแบะแซที่ได้จากแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้แบะแซยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ แบะแซน้ำ ที่มักจะใช้ในการทำอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารทั่วไป ส่วนแบะแซผงจะนิยมใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์

ในชีวิตประจำวันเราสามารถพบเห็นแบะแซได้ทั่วไป เพราะมีการนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำมาทำเป็นกระยาสารท น้ำราดข้าวหมูแดง เพิ่มความเหนียวข้นในน้ำจิ้ม ไอศกรีม หรือแม้แต่ท็อฟฟี่ ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของแบะแซอยู่

โดยแบะแซเป็นสารให้ความหวานที่นิยมใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาล นิยมใช้กันทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์แปรรูป ขนมหวาน น้ำหวาน ลูกกวาด ลูกอม รวมทั้งอุตสาหกรรมยาอีกด้วย

ดังนั้นแบะแซจึงเป็นสารให้ความหวานที่ได้มาจากการย่อยของแป้งมันสำปะหลัง หรือแป้งข้าวโพด โดยส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทดแทนน้ำตาล หรือทำให้น้ำตาลเกิดการรัดตัวเร็วขึ้น มักใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและของหวานเป็นส่วนใหญ่

ร่วมแสดงความคิดเห็น