ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ชมความงามสองข้างทางขึ้นดอยสุเทพ

ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นความสวยงามของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

จังหวัดเชียงใหม่ นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม มักจะเป็นสถานที่แรกๆ ที่อยู่ในใจของนักท่องเที่ยว เป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆ ที่คนทั่วไปจะต้องหาโอกาสมาสัมผัสกัน เชียงใหม่ วันนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่รอให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ วัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมาก

ย่างเข้าสู่ห้วงต้นฤดูฝนแบบนี้ หลายพื้นที่ล้วนชุ่มชื้นชุ่มฉ่ำไปทั่ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็เริ่มทวีความสวยงามขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางธรรมชาติ ที่เริ่มต้นจากเชิงดอย ไปสู่ดอยสุเทพ ก็เป็นเส้นทางที่น่าสนใจไม่น้อย ทุกทิศทั่วถิ่นฯ จึงจะพาไปศึกษาเส้นทางธรรมชาติ และชมความงามสองข้างทางขึ้นดอยสุเทพ กันก่อน

ดอยสุเทพเป็นสถานที่หนึ่งที่ได้รับความนิยม และตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ เกือบทุกคนที่จะขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ มักจะถือโอกาสแวะกราบสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เพื่อขอพรให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองกันก่อน

อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพติดกับน้ำตกห้วยแก้ว ท่านเป็นบุคคลแรกที่เป็นผู้บุกเบิกการสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร โดยเริ่มสร้าง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2478 รวมระยะทางกว่า 10 กม. ด้วยคุณูปการที่ท่านสร้างขึ้นให้เป็นประโยชน์แก่ชาวเชียงใหม่ จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรแด่ความทรงจำแห่งตำนาน นักบุญแห่งล้านนา และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสมากราบสักการะอนุสาวรีย์ของท่านตราบจนทุกวันนี้

ประชาชนแวะกราบสักการะอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย

เมื่อแวะสักการะอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะมุ่งหน้าขึ้นไปเยี่ยมชมธรรมชาติต่างๆ เริ่มที่น้ำตกห้วยแก้ว อยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย น้ำตกห้วยแก้ว เป็นน้ำตกที่ อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด น้ำตกแห่งนี้เกิดขึ้นในลำห้วยแก้ว ในอดีตเมื่อ ประมาณ 20 ปีก่อน เป็นน้ำตกที่มีกระแสน้ำไหลแรงและใสมาก ถึงกับใช้บริโภคดื่มกินได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันน้ำตกห้วยแก้ว กลับได้รับความนิยมน้อยลง เพราะน้ำไหลน้อย และไม่ได้ใสเหมือนแต่ก่อน

ถัดขึ้นมาจากน้ำตกห้วยแก้ว คือน้ำตกวังบัวบาน สมัยก่อนน้ำตกแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า วังกุลา ต่อมาได้เกิดเรื่องราวเล่าขานในเรื่องของความรักที่ผิดหวังของครูสาวที่ชื่อ บัวบาน กับคนรักหนุ่มชาวกรุง แต่เมื่อสืบหาดูข้อมูลต่างๆ มาแล้ว กลับพบว่าตำนานนี้มีเรื่องเล่าสืบ ต่อกันมาถึง 4-5 เรื่องด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดต่างก็มีจุดจบที่น่าเศร้า แต่เรื่องราวเหตุการณ์กลับ แตกต่างกัน บ้างก็บอกว่าครูบัวบานโดนทหารหนุ่มคนกรุงทิ้ง บ้างก็บอกว่าไปตกลงปัญหา ความรักที่น้ำตกแต่กลับเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมา บ้างก็บอกว่าเธอถูกฆาตรกรรม แต่ถึงอย่างไรครูบัวบาน ก็มีจุดจบที่น้ำตกแห่งนี้ จึงได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ และเป็นที่มาของ ชื่อน้ำตกวังบัวบาน

ใกล้กัน คือน้ำตกผาเงิบ อยู่ใกล้กับน้ำตกวังบัวบานเพียง 40 เมตร คำว่า เงิบ ในภาษาเหนือมีความหมายว่า ยื่นง้ำออกมา ดังนั้น ผาเงิบ จึงหมายถึง หน้าผาหรือเงื้อมผา ที่เป็นหินผาที่สูงยื่นง้ำออกมา และในบริเวณนั้นยังมีการสร้างแท่นอนุสรณ์สถาน ที่มีรอยประทับ รูปมือและเท้าของครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อครั้งที่ท่านได้ทำการบุกเบิกสร้างถนนขึ้นวัดดอยสุเทพ ในปีพ.ศ. 2478 ขณะที่ท่านมีอายุเพียง 22 ปี

น้ำตกวังบัวบาน

ไม่ไกลจากน้ำตกผาเงิบ ก็จะเจอทางแยกเล็กๆ มีป้ายเขียนว่า น้ำตกมณฑาธาร หรือน้ำตกสันป่ายาง ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในเขตอุทยานดอยสุเทพ – ดอยปุย มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 730 เมตร มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่เปิดให้บริการเพียงแค่ 2 ชั้น เนื่องจากเส้นทางลาดชันอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ที่มาของชื่อน้ำตกแห่งนี้ มาจากต้นมณฑา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ดอกสีขาวใบใหญ่ สีเขียวจัด จะเห็นได้ทั่วไปตามข้างทางแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูฝน

ทั้งหมดนี้ คือน้ำตกในเส้นทางระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพ นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ หากเราอยากให้น้ำตกเหล่านี้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์เหมือนเดิม เราทุกคนก็ต้องร่วมมือกันรักษาความสะอาด ไม่นำของที่เป็นขยะย่อยยากทิ้งลงน้ำตก ไม่นำแอลกอฮอล์ขึ้นมาดื่มบริเวณน้ำตก และช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สถานที่ที่สวยงาม เหล่านี้ได้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราสืบไป

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่สนใจและอยากจะมาสัมผัสบรรยากาศที่น่าหลงใหลชวนติดตามนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวมายังฝ่ายประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เบอร์ 053-998333 ต่อ 208 และ 211

น้ำตกมณฑาธาร
ผาเงิบ
น้ำตกห้วยแก้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น