บทความพิเศษ ผลสำเร็จโครงการส่งเสริมการ ผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงไก่

ตามติดกันต่อกับผลสำเร็จ ฟาร์มไก่ไข่ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงไก่ระยะที่ 2 โดยงบสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กระทรวงพลังงาน ดำเนินการติดตั้งระบบ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ สถาบันพลังงาน มช. วันนี้เราขอนำทุกท่านมาพบกับ ยิ่งเจริญฟาร์ม ผู้นำเพื่อนฟาร์มในเขตพื้นที่อ.เกาะคา จ.ลำปาง เข้าร่วมโครงการฯ
“ ก่อนหน้าจะเข้าร่วมโครงการฯ เรามีปัญหาสารพัดที่ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องกลิ่นและแมลงวัน จนท้อคิดว่าไม่น่าทำฟาร์มเลย จนกระทั่งนายกฯ(นายกเทศบาลนายยิ่งเจริญ สิทธิวัง) ได้มีโอกาสไปร่วมอบรมด้านก๊าซชีวภาพที่ มช. กระทั่งรู้ว่ามีโครงการฯ จึงได้ชวนเพื่อนๆฟาร์มไปสมัครเข้าร่วมโครงการ” พี่น้อง สิทธิวัง เจ้าของยิ่งเจริญฟาร์มกล่าว
“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัญหาต่างๆที่เคยเจอก็ดีขึ้น กลิ่นก็ลดลง แมลงวันก็น้อยลง ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าก็ลดลง เพื่อนๆฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฯก็ตอบรับมาว่าโครงการฯที่ฟาร์มเราได้ชักชวนให้ไปเข้าร่วมนี้ดีจริงๆ ” “ ขอบคุณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กระทรวงพลังงานที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพ แม้จะเป็นเพียงจำนวนหนึ่ง แต่ก็ช่วยเราได้เยอะ เพราะต้นทุนถ้าจะสร้างเองก็ค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายยอมรับว่าแต่ก่อนเยอะทั้งค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าการจัดการต่างๆในฟาร์ม พอได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟ เอาขี้ไก่ไปขายก็ยอมรับว่าดีขึ้นเยอะ ขอบคุณสถาบันพลังงาน มช.ด้วยนะคะ ที่ช่วยดูแลและเข้ามาติดตั้งระบบให้เราอย่างสม่ำเสมอ ขอบคุณเจ้า” พี่น้อง สิทธิวัง กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
ท้ายนี้ขอสรุปข้อมูลของยิ่งเจริญฟาร์มหลังจากติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพแล้ว เป็นตัวเลข ดังนี้
1.จำนวนไก่ไข่ที่ร่วมโครงการ 10,200 ตัว
2.จำนวนก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้  85 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 28,050 ลูกบาศก์เมตร/ปี
3.ทดแทนพลังงานไฟฟ้าได้  164,092.50 บาท/ปี
ตอนหน้าพบกับรัตนภรณ์ฟาร์ม (ชื่อเดิมพีรวิชญ์ฟาร์ม 2) ฟาร์มไก่ไข่แห่งอำเภอเสริมงาม จ.ลำปาง

โดย PR สาวหน้าบาน ERDI-CMU

ร่วมแสดงความคิดเห็น