นักท่องเที่ยวจีนกว้านซื้อ มะม่วงอบแห้งกลับบ้าน

ผลไม้ไทยครองใจนักท่องเที่ยวจีน ทั้งสดและแปรรูป ร้อยละ 60.64 แห่ซื้อมะม่วงอบแห้งกลับประเทศ รองลงมา คือ ทุเรียน, มะพร้าว, มังคุด, กล้วย , แตงโม, ลำไยและชมพู่ ผลสำรวจพบ ราคาถูก คุณภาพดี รูปลักษณ์ความสวยงาม ความสะดวกในการซื้อหา และความแปลกใหม่หลากหลาย
ปัจจุบันท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการผ่อนคลายนโยบายควบคุมนักท่องเที่ยวของรัฐบาลจีนในการขอหนังสือเดินทางหรือการนำเงินออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ชาวจีนมีทางเลือกในการเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวจีน (China Tourism Research Institute) และเว็บไซต์ Jingdlly.com ยังพบว่า ชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อที่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ดังจะเห็นได้จาก มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศของปี พ.ศ. 2559 มีมากถึง 7.94 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2558 ถึงร้อยละ 67.15
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในตลาดการท่องเที่ยวของโลก และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญประเทศหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ที่มีนักท่องเที่ยวมากถึง 567,759 คน หรือร้อยละ 21.97 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเชียงใหม่ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี (กรมการท่องเที่ยว, 2560) พฤติกรรมการซื้อและการบริโภคสินค้าของนักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับทั้งธุรกิจทางตรง เช่น ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ธุรกิจสนับสนุนและธุรกิจกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจนันทนาการต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตปปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ
ดังนั้น แม่โจ้ โพลล์ ภายใต้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร จึงได้สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 402 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2560 ในหัวข้อ “สินค้าเกษตรไทย…ที่สุดของนักท่องเที่ยวจีน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจีนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว การซื้อและการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผลสำรวจดังนี้
จาการสอบถามนักท่องเที่ยวจีนถึงรูปแบบและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในครั้งนี้ พบว่า นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.34 มาท่องเที่ยวเชียงใหม่ด้วยตนเอง โดยมีงบประมาณในการท่องเที่ยว(ไม่รวมค่าเครื่องบิน) ระหว่าง 20,001-30,000 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 43.75) รองลงมา มีงบประมาณในการท่องเที่ยวสูงกว่า 30,000 (ร้อยละ 31.67) ระหว่าง 10,000-20,000 บาท (ร้อยละ 19.58) และ ไม่เกิน 10,000 1บาท(ร้อยละ 5.00) ตามลำดับ ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เหลืออีก ร้อยละ 34.66 มาท่องเที่ยวเชียงใหม่โดยใช้บริการบริษัททัวร์ โดยมีงบประมาณในการท่องเที่ยว (ไม่รวมค่าแพคเกจทัวร์) ระหว่าง 20,001-30,000 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 50.46) รองลงมา มีงบประมาณในการท่องเที่ยวสูงกว่า 30,000 บาท (ร้อยละ 17.43) ระหว่าง 10,001-20,000 บาท (ร้อยละ 16.51) และไม่เกิน 10,000 บาท (ร้อยละ 15.60) ตามลำดับ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนทั้งสองรูปแบบข้างต้นมีระยะเวลาในการท่องเที่ยวเฉลี่ยเท่ากัน คือ 6วัน 5 คืน
เมื่อสอบถามถึงสินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนประทับใจหรือชื่นชอบมากที่สุด 3 ลำดับในการท่องเที่ยวเชียงใหม่ พบว่า อันดับที่ 1 ได้แก่ ผลไม้ไทย (ร้อยละ 91.10) รองลงมาได้แก่ อาหารไทย (ร้อยละ 84.29) และสินค้าทั่วไป เช่น ยาและสมุนไพรต่างๆ (ร้อยละ 67.28) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามสินค้าเกษตรที่ชาวจีนเลือกซื้อ พบว่า นักท่องเที่ยวจีน ร้อยละ 50.52 เลือกซื้อผลไม้สดมาบริโภค โดยผลไม้สดที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเลือกซื้อมากที่สุด เป็นอันดับที่ 1 ได้แก่ มะม่วง (ร้อยละ 35.45) รองลงมา ได้แก่ ทุเรียน (ร้อยละ 26.72) มะพร้าว (ร้อยละ 20.37) มังคุด (ร้อยละ 16.67) กล้วย (ร้อยละ 12.70) แตงโม (ร้อยละ 11.91) ลำไย (ร้อยละ 10.85) และชมพู่ (ร้อยละ 7.94) ตามลำดับ สำหรับสินค้าเกษตรที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกซื้อบริโภค เป็นของฝาก หรือนำกลับประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.68 เลือกซื้อผลไม้แปรรูป โดยผลไม้แปรรูปที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกซื้อมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ได้แก่ มะม่วงอบแห้ง (ร้อยละ 60.64) รองลงมา ได้แก่ ทุเรียนอบแห้งฟรีซดลาย (ร้อยละ 37.50) ทุเรียนกวน (ร้อยละ 31.65) ลำไยอบแห้ง (ร้อยละ 13.56) และทุเรียนทอด (ร้อยละ 12.77) ตามลำดับ ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เหลืออีกร้อยละ 29.79 เลือกซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปอื่นๆ เช่น นมเม็ด เป็นต้น
เมื่อสอบถามสินค้าอุตสาหกรรมที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกซื้อบริโภค เป็นของฝาก หรือนำกลับประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.04 เลือกซื้อยาต่างๆ เช่น ยาดม ยาหม่อง (ร้อยละ 89.35 เป็นยาแบรนด์ท้องถิ่น ที่เหลืออีกร้อยละ 16.67 เป็นยาแบรนด์ต่างประเทศ) รองลงมา ร้อยละ 56.97 เลือกซื้อสมุนไพร/สปา (ร้อยละ 82.18 เป็นสมุนไพรแบรนด์ท้องถิ่น ที่เหลืออีกร้อยละ 16.67 เป็นสมุนไพรแบรนด์ต่างประเทศ) ร้อยละ 54.73 เลือกซื้อเครื่องสำอาง (ร้อยละ 65.15 เป็นเครื่องสำอางแบรนด์ท้องถิ่น ที่เหลืออีกร้อยละ 42.93 เป็นเครื่องสำอางแบรนด์ต่างประเทศ) ร้อยละ 38.82 เลือกซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 75.95 เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบรนด์ท้องถิ่น ที่เหลืออีกร้อยละ 25.56 เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบรนด์ต่างประเทศ) ร้อยละ 18.00 เลือกซื้อของที่ระลึกต่างๆ เช่น พวงกุญแจ ตุ๊กตา ภาพวาด หรือโพสการ์ด ร้อยละ 11.05 เลือกซื้อวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง และพระเครื่อง และร้อยละ 10.54 เลือกซื้อเครื่องประดับและอัญมณีต่างๆ ตามลำดับ
โดยเมื่อสอบถามลักษณะด้านต่างๆ ของสินค้าเกษตร (เช่นผลไม้) ที่นักท่องเที่ยวจีนซื้อมาบริโภค พบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยมีราคาถูก (ร้อยละ 64.27) มีคุณภาพมาก (อร่อยและสดใหม่) (ร้อยละ 63.71) มีรูปลักษณ์ที่สวยงามมาก (ร้อยละ 63.40) มีความสะดวกในการซื้อหามาก (ร้อยละ 63.28) และมีความหลากหลายและแปลกใหม่มาก (ร้อยละ 52.69)
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าระหว่างการท่องเที่ยวเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวจีน พบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.58 ประสบปัญหาสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้า และคนทั่วไปไม่รู้เรื่อง รองลงมา ร้อยละ 25.00 ประสบปัญหาพ่อค้าแม่ค้าเอาเปรียบขายสินค้าแพงเกินความเป็นจริง และร้อยละ 16.42 ประสบปัญหาพ่อค้าแม่ค้าเอาเปรียบขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ/เน่าเสีย ตามลำดับ
จากผลการสำรวจความคิดเห็นข้างต้นพบว่า นักท่องเที่ยวจีนประทับใจและชื่นชอบ ทั้งผลไม้ไทยและอาหารไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับสินค้าหลายประเภทเป็นที่นิยมในการบริโภคและซื้อเป็นของฝากนำกลับประเทศของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทย ซึ่งทั้งราคาถูก คุณภาพดี รูปลักษณ์ความสวยงาม ความสะดวกในการซื้อหา และความแปลกใหม่หลากหลาย เป็นจุดเด่นของสินค้าประเทศไทย ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรให้การส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และใช้จุดเด่นความชื่นชอบเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการผลิต และการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามจะพบว่า นักท่องเที่ยวจีนกว่าครึ่งยังติดปัญหาด้านการสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าและคนทั่วไป และนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนที่เห็นว่าราคาสินค้าเกษตรมีราคาสูง ซึ่งอาจเกิดจากพ่อค้าแม่ค้าบางรายอาเปรียบขายสินค้าแพลงเกินความเป็นจริง ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยงข้องควรส่งเสริมและปรับปรุงการให้บิการแก่นักท่องเที่ยวจีน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ด้านภาษาแก่พ่อค้าแม่ค้า การเพิ่มภาษาจีนลงในป้ายแสดงราคาสินค้า แหล่งท่องเที่ยว และในจุดสำคัญต่างๆ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าไม่ให้ตั้งราคาสินค้าที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวแพงจนเกินไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น