มทร.ล้านนา จัดประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ

วันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ.2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4 และการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ ด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิล สำหรับเกษตรกรและการประมงชั้นสูง ครั้งที่ 2 “สู่วิจัยรับใช้สังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรมระหว่างวันที่ 26-27 กรกฏาคม พ.ศ.2560 โดยมี
รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการ“…สู่วิจัยรับใช้สังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม” การประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4 และการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ ด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิล สำหรับเกษตรและการประมงขั้นสูง ครั้งที่ 2
เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองในการเข้าร่วมนำเสนอผลงานในระดับชาติและนานาชาติ และเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนางานวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เกิดการพัฒนาและสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผลงานทางวิชาการ และสร้างงานวิจัยใหม่ร่วมกันต่อไปในอนาคต
“การประชุมวิชาการนานาชาตินี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่4 ซึ่งในครั้งนี้มีความพิเศษโดยเป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิล สำหรับเกษตรและการประมงขั้นสูง ที่ทาง มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นในการร่วมกันศึกษาวิจัยเทคโนโลยีไมโคร นาโนบับเบิลโดยดำเนินการ ณ ศูนย์ Plasmas & Micro/Nano Bubbles to Agriculture and Aquaculture มทร.ล้านนา ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สามารถถ่ายทอดลงไปสู่ภาคการเกษตรและถูกนำไปใช้เพื่อการผลิตทางการเกษตร ในโอกาสนี้ มทร.ล้านนา จะได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนางานวิจัยด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิลด้วย
การจัดงานในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัย กลุ่มภาคธุรกิจ ภาคเอกชน จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนพัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นงานนวัตกรรมในยุค Thailand 4.0 และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการต่อยอดงานวิจัยและสามารถนำไปใช้ถ่ายทอดลงสู่สังคม ชุมชนได้ จึงอยากขอเชิญชวน ผู้สนใจ กลุ่มสถานประกอบการ กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความทันสมัยของเทคโนโลยี”

ร่วมแสดงความคิดเห็น