สัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 23 รวมนักระบาดวิทยาจาก 90 กว่าประเทศ

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมระดับโลก เครือข่ายระบาดวิทยาภาคสนาม ครั้งที่ 9 และสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 23 รวมนักระบาดวิทยาจาก 90 กว่าประเทศ ระหว่างวันที่ 7 – 11 ส.ค. นี้ ที่ จ.เชียง ใหม่
นพ.สุรเชษฐ์ อรุโณทอง รอง ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 สสจ.เชียงใหม่ เป็นเผยว่า จ.เชียงใหม่ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก เครือข่ายระบาดวิทยาภาคสนาม ครั้งที่ 9 และสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 23 ภายใต้แนวคิด “ระบาดวิทยาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค.60 ณ ห้องประชุมเอ็มเพรส แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส เพื่อเป็นการรวมตัวของนักระบาดวิทยาจาก 90 ประเทศ รวม 1,200 คน ประกอบด้วยนักระบาดวิทยา จากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ในประเทศต่างๆ 90 ประเทศทั่วโลก จำนวน 600 คน และ จนท.สาธารณสุข แพทย์ สัตวแพทย์ และนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย จำนวน 600 คน

โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีบทบาทในงานเฝ้าระวัง และสอบสวนโรค ต่อกรณีการระบาดของโรค รวมถึงการควบคุมป้องกันโรคในระดับประเทศ มานำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในงานควบคุมและป้องกันโรค เช่น Ebola, Zika, โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, HIV/AID และโรคจากการประ กอบอาชีพ เป็นเวทีเชื่อมโยงมาตรฐานงานระบาดวิทยาของไทยสู่นานาชาติ และเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงบทบาทประเทศผู้นำในงานการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา ตลอดจน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคและภัยสุขภาพจากทั่วโลก

ทั้งนี้ เครือข่ายระบาดวิทยาระดับโลก มีโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนามจำนวน 65 โครงการใน 90 ประเทศสมาชิก มีเป้าหมายหลักคือ พัฒนาศักยภาพในงานสาธารณสุข ผ่านโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนาม เพื่อผลิตนักระบาดวิทยาที่มีสมรรถนะตามมาตรฐาน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคทั้งในประเทศตนเองและในภูมิภาคอื่นๆ การประชุมเครือข่ายระบาดวิทยาระดับโลกจัดทุก ๆ 2 ปี

สำหรับการจัดสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในปี พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน รวม 23 ครั้ง เป็นระยะเวลา 35 ปี กำหนดจัดทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานสาธารณสุข และเครือข่ายทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิชาการในการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน รวมถึงการศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยา อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการนำความรู้ ไปประยุกต์ใช้ในการสอบสวนโรคอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น