โครงการ “อุ้ยสอนหลาน”… สืบสานภูมิปัญญาของชาวแม่วาง

วันนี้ภาพของคนเฒ่าคนแก่ชุมชนแม่วางอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่โดดเดียวเหงาหงอยอีกต่อไป หากมีกิจกรรมสำคัญบางอย่างให้ทำ โดยมีกำลังใจเป็นเด็กเล็กลูกหลานคอยวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ ทั้งหมดนี้มีแรงหนุนสำคัญจากคนเฒ่าคนแก่ที่รักจะทำงานอย่าง พ่ออุ้ยใจคำ ตาปัญโญ พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งริเริ่มโครงการเล็ก ๆ ที่ชื่อ “โครงการอุ้ยสอนหลาน”

เมื่อพูดถึงของเล่นพื้นบ้าน เด็กสมัยนี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก ส่วนใหญ่แล้วเด็ก ๆ จะรู้จักของเล่นที่ผลิตขึ้นจากนวกรรมใหม่ อาทิ ปืนกลแสงเลเซอร์ เกมกด เครื่องบินไขลาน ตุ๊กตาบาร์บี้ หรือแม้แต่รถแข่งที่ใช้รีโมทบังคับที่กำลังฮิตให้หมู่เด็ก ๆ อย่างรถกระป๋อง เป็นต้น
หากมองย้อนกลับไปในอดีตสมัยปู่ย่าตายายทำของเล่นพื้นบ้านให้ลูกหลานเล่น ไม่ว่าจะเป็นม้าก้านกล้วย ก๊อบแก๊บที่ทำจากกะลามะพร้าว ปลาตะเพียนสานจากไม้ไผ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าของเล่นดังกล่าวไม่เหลือให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จักกันเลย
สมัยก่อนเมื่อเวลาที่คนเฒ่าคนแก่นั่งทำของเล่นพื้นบ้าน จะมีลูกหลานมานั่งล้อมวงดู บรรยากาศความสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทแนบแบบนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว กลายเป็นว่าลูกหลานห่างเหินคนเฒ่าคนแก่ เด็กรุ่นใหม่นิยมเข้าไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าใช้จ่ายเงินทองแบบสุรุ่ยสุร่าย ปล่อยให้ปู่ย่าตายายต้องเหงาเดียวดายอยู่กับบ้าน
วันนี้ภาพของคนเฒ่าคนแก่ชุมชนแม่วางอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่โดดเดียวเหงาหงอยอีกต่อไป หากมีกิจกรรมสำคัญบางอย่างให้ทำ โดยมีกำลังใจเป็นเด็กเล็กลูกหลานคอยวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ ทั้งหมดนี้มีแรงหนุนสำคัญจากคนเฒ่าคนแก่ที่รักจะทำงานอย่าง พ่ออุ้ยใจคำ ตาปัญโญ พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งริเริ่มโครงการเล็ก ๆ ที่ชื่อ “โครงการอุ้ยสอนหลาน”
และจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชนแม่วางในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการผลิตเชิงเดี่ยวเพื่อขายส่งผลกระทบให้คนแม่วางต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการใช้สารเคมี ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาทางสังคม ครอบครัวไม่มีความอบอุ่น เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด ช่องว่างระหว่างเด็กและคนสูงอายุ การขาดหายไปของภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นทำให้กลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่รวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุอำเภอแม่วางขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อเป็นการสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นจากคนแก่สู่คนรุ่นใหม่
กระทั่งปี พ.ศ.2539 พ่ออุ้ยใจคำ ตาปัญโญ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการอุ้ยสอนหลาน โดยการประสานงานความร่วมมือกับเจ้าพระคุณพระญาณสมโภช วัดดอยสัพพัญูดำเนินการสอนดนตรีพื้นบ้านให้กับเด็กเยาวชนจากโรงเรียนบ้านวาดวิทยาคม บ้านดอนเปา บ้านใหม่สวรรค์และบ้านท่าโป่ง โดยจัดการเรียนทุกวันอาทิตย์ จนเมื่อปี พ.ศ.2544 จึงได้เริ่มสอนการสักสานเชิน สานกบ สานงูและชะลอม
โครงการอุ้ยสอนหลานได้ขยายวงกว้างออกไปสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น เมื่อเครือข่ายองค์กรชุมชนแม่วางร่วมกับโรงเรียนบ้านกาดวิทยาคมได้รวบรวมพ่อครูแม่ครูที่มีความรู้ด้านภูมิปัญญาพื้นบ้านหลากหลายสาขา อาทิ ทอผ้า การทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว จักสาน การทำร่ม ศิลปินพื้นบ้าน หมอเมือง การทำเกษตร การแปรรูปผลผลิตพื้นบ้านและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติกว่า 30 คน มาถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้กับเด็กนักเรียน
หลังจากความร่วมมือในครั้งนั้น ได้มีการประสานงานเชิญผู้รู้ ครูภูมิปัญญาไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กในโรงเรียนต่าง ๆ บางกรณีมีการพานักเรียนมาเรียนรู้ที่บ้านผู้รู้เช่น เรียนรู้การจักสานที่บ้านพ่ออุ้ยใจคำ เรียนรู้การทำร่มที่บ้านพ่ออุ้ยปั๋นบ้านดอนเปา เรียนรู้สมุนไพรผักพื้นบ้านที่บ้านพ่อน้อยบูรณ์ บ้านใหม่สวรรค์และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชนกับพะตีจอนิที่บ้านหนองเต่า
โครงการอุ้ยสอนหลานสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นแม่วาง นับเป็นโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชมรมผู้สูงอายุในการสานต่อภูมิปัญญาพื้นบ้านของท้องถิ่นให้ได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นหลังต่อไป
การเดินทางเพื่อสานต่อความรู้ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้านในโครงการอุ้ยสอนหลานแห่งนี้ กลับไม่พบเพียงของเล่นพื้นบ้านหน้าตาแปลก ๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็นมาก่อนเกือบ 20 ชนิดเท่านั้น ทว่ายังพบบางสิ่งบางอย่างที่หวนกลับคืนมาด้วยนั่นก็คือ ความสุข ความผูกพัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
7/4/58

ร่วมแสดงความคิดเห็น