ก่อสร้าง 6 เลนดอยติ-เชียงใหม่อืด!!!ควักอีก 40 ล้าน ย้ายต้นไม้กว่า 3 พันต้น

ก่อสร้าง 6 เลนดอยติ-เชียงใหม่อืด!!! กรมทางหลวงต้องควักอีก 40 ล้าน ล้อมย้ายต้นไม้มากกว่า 3 พันต้นพ้นเขตทาง รอกรมป่าไม้ลงนาม
ถนน 6 เลน ดอยติ-เชียงใหม่อืด งานก่อสร้างยังรอการล้อมย้ายต้นไม้มากกว่า 3 พันต้นออกจากเขตทาง นายช่างโครงการแจงชงเรื่องขออนุญาตแล้วเหลือเพียงอธิบดีกรมป่าไม้ลงนาม คาดสิ้นสิงหาคมได้ไฟเขียววางแผนล้อมย้ายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เตรียมพื้นที่กว่า 30 ไร่บริเวณแยกไชยสถานไว้รองรับ พร้อมผุดเป็นสวนสาธารณะให้คนเชียงใหม่ เผยเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกที่ก่อสร้างถนนโดยไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว กรมทางหลวงต้องควักอีก 40 ล้านบาทเพื่อการล้อมย้าย ด้านสะพานข้ามแยกได้ข้อสรุปหมดแล้วมีทั้งสิ้น 4 แห่ง จุดกลับรถปิดที่มีอยู่ตลอดเส้นทาง 11 จุด ปิดจุดเดียวที่แยกวัดใจ-สารภี มั่นใจสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างได้ให้แล้วเสร็จตามแผน วอนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนใจเย็นอาจมีรถติดบ้างในบางช่วงของการก่อสร้าง
ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายสามแยกดอยติ-เชียงใหม่ นายประลองยุทธ์ กสิวงศ์ นายช่างโครงการฯ ให้สัมภาษณ์ “เชียงใหม่นิวส์” เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการก่อนสร้างขยายช่องทางการเดินรถจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจรในช่วงสามแยกดอยติถึงเชียงใหม่ ว่า การดำเนินการก่อสร้างขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดไปราว 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องรอใบอนุญาตในการล้อมย้ายต้นไม้ที่อยู่ในเขตทางซึ่งคาดว่าใบอนุญาตจะออกได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ อีกประการแต่เดิมที่กำหนดในการจัดการต้นไม้ในเขตทางมีอยู่ราว 600 ต้น แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการต้นไม้ซึ่งทางกรมทางหลวงได้รับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ว่า ไม่อยากให้มีการตัดโค่นหรือทำไม้ในเขตทาง ซึ่งประเด็นเรียกร้องไปสอดคล้องกับนโยบายของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ไม่ต้องการให้มีการตัดต้นไม้ในเขตทางที่จะมีการก่อสร้างเช่นกัน
“โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการของกรมทางหลวงในการขยายทางหรือก่อสร้างทาง โดยจะทำการล้อมย้ายต้นไม้ทั้งหมดที่อยู่ในเขตก่อสร้างทางจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 3,000 ต้น ซึ่งไม่ส่วนใหญ่ทั้งสองข้างทางในช่วงนี้ตลอดระยะทาง 24.350 กิโลเมตรเป็นไม้สัก เป็นต้นไม้ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ปลูกเองทั้งหมด มีอายุราว 30 กว่าปี โดยมี อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา เบื้องต้นได้แนะนำให้กรมทางหลวงจัดสร้างสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว ซึ่งบริเวณแยกทางต่างระดับไชยสถาน (แยกซิงเซิง) ที่ดินของกรมทางหลวงมีพื้นที่ว่างอยู่ราว 30 ไร่ สอดคล้องกับการดำเนินการหรือรองรับการนำไม้ที่ล้อมย้ายมาปลูกในพื้นที่ได้” นายช่างโครงการฯ กล่าว
นายประลองยุทธฯ กล่าวต่อว่า แต่เดิมการดำเนินการกับต้นไม้ในเขตทางตลอดช่วงนี้จะทำการล้อมย้ายเพียงแค่ 500 กว่าต้น ส่วนที่เหลือทั้งหมดยกให้ทาง ออป. เข้ามาดำเนินการทำไม้ เนื่องจากกรมทางหลวงไม่มีนโยบายในการใช้ไม้ แต่เนื่องจากต้องมีการขยายถนนและไปกระทบกับต้นไม้ก็จะส่งเรื่องให้กรมป่าไม้เข้ามาดำเนินการ เป็นแนวทางทั่วไปที่ดำเนินการในโครงการต่างๆ ของกรมทางหลวง แต่โครงการนี้ประจวบเหมาะในหลายๆ ด้าน จะเป็นโครงการนำร่องของกรมทางหลวงในการล้อมย้ายต้นไม้ออกจากเขตทางที่จะทำการก่อสร้าง
“พื้นที่ 30 กว่าไร่ที่เตรียมไว้สำหรับรองรับต้นไม้ทั้ง 3,000 กว่าต้นนั้น ได้รับคำแนะนำว่าเพียงพอที่สร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือว่าสวนสาธารณะได้ แต่ยังมีไม้อีกส่วนหนึ่งมีหน่วยงานราชการขอไปปลูกต่อในพื้นที่ ขณะนี้ที่ขอมามี 2 หน่วยงานที่ขอเข้ามาคือ โรงพยาบาลสารภี ซึ่งกำลังก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 2 และจะสร้างสวนสุขภาพเพื่อการรักษาแบบธรรมชาติ ขอต้นไม้มาราว 100 ต้น ได้เข้าไปดูในพื้นที่แล้วคาดว่าน่าจะต้องใช้มากกว่านี้ ได้มีการประสานแล้วหากจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่สวนสุขภาพก็ให้ขอเพิ่มเข้ามา อีกหน่วยงานที่ขอมาเป็นหน่วยทหารคือ พล.ร.7 ซึ่งได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับจะทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณดังกล่าว ได้ขอต้นไม้เข้ามาเราก็ไม่ขัดข้องจัดไปให้อีกส่วนตามความต้องการของหน่วย” นายประลองยุทธฯ กล่าว
สรุปในส่วนของต้นไม้ในเขตทางที่จะทำการก่อสร้างขยายช่องจราจรทุกต้นที่จะได้รับผลกระทบจะทำการล้อมย้ายทั้งหมดราว 3,000 กว่าต้น ซึ่งนั่นหมายถึงการที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มในการดำเนินการล้อมย้ายต้นไม้ราว 40 กว่าล้านบาท โดยมีแผนการล้อมย้ายออกจากเขตทางทั้งหมดราว 3 เดือน จัดชุดปฏิบัติการที่มีความชำนาญจำนวน 4 ชุดเพื่อเข้าดำเนินการ ทั้งนี้ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้วในทุกเรื่อง รอเพียงใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เท่านั้น
ส่วนรายละเอียดของต้นไม้ที่ต้องล้อมย้ายออกจากเขตทาง ประกอบด้วย ไม้สัก จำนวน 1,597 ต้น ไม้หวงห้ามธรรมดา (ประเภท ก.) จำนวน 876 ต้น และไม้อื่นๆ ซึ่งไม่เป็นไม้หวงห้าม จำนวน 663 ต้น รวมต้นไม้ที่ต้องล้อมย้ายออกจากเขตทางช่วงการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,136 ต้นสำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 สายสามแยกดอยติ–เชียงใหม่ ดำเนินการโดย สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม รายละเอียดพอสรุปได้ว่า โครงการก่อสร้างตามสัญญาเลขที่ สท. 1/14/2559 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ผู้รับจ้างคือ บริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ค่างาน 1,474,671,000.00 บาท ระยะเวลาทำการ 1,080 วัน (ปี 2559–2562) วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 งานก่อสร้างระหว่าง กม.526+249.000-กม. 550+599.000 ระยะทาง 24.350 กิโลเมตร ลักษณะงานทาง (Road work) เป็นงานก่อสร้างขยายช่องจราจร จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจร ประกอบด้วย งานก่อสร้างไหล่ทางคอนกรีต ด้านขวาทาง งานก่อสร้างทางขยายช่องจราจรทางคอนกรีต ด้านขวาทาง และ งานก่อสร้างทางคอนกรีตขนาด 3 ช่องจราจร ด้านซ้ายทางส่วนงานงานโครงสร้าง (Structural work) ในทาง ประกอบด้วย งานก่อสร้างสะพาน และขยายสะพาน เพื่อลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณทางแยก ได้แก่ งานก่อสร้างสะพาน (New Concrete Bridge) มี 2 งานหลักที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย งานก่อสร้างสะพานข้ามคลอง (New bridge) และงานก่อสร้างสะพานข้ามแยก (Overpass) ตลอดทั้งโครงการมีงานก่อสร้างสะพานข้ามแยก จำนวน 4 จุด คือ สะพานข้ามแยกเหมืองง่า ที่กม. 534+892.406 สะพานข้ามแยกเหมืองกวัก กม. 537+260.000 สะพานข้ามแยกป่าแดด กม. 543+908.664 และสะพานข้ามแยกสารภี ที่ กม. 546+698.776 นอกจากนี้จะมีงานขยายสะพานตามขนาดความกว้าง (Widening of Existing Bridge Roadway) และงานก่อสร้างงานเสริมความยาวท่อเหลี่ยม (Extension of Existing R.C. Box Culvert)
“ประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแยกได้มีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ในทุกจุดแล้ว แต่จะเริ่มทำการก่อสร้างได้จะต้องมีการสร้างทางเบี่ยงรถด้านข้างทั้ง 2 ด้านก่อน และการจะก่อสร้างทางเบี่ยงได้ก็ต้องทำการล้อมย้ายต้นไม้ออกจากพื้นที่ก่อน ซึ่งตามแผนการก่อสร้างช่วงนี้ควรที่จะมีการเปิดพื้นที่ก่อสร้างสะพานข้ามแยกแล้ว การทำงานช่วงนี้จึงเป็นบริเวณที่สามารถทำได้เท่านั้น เป็นบริเวณที่ไม่ติดต้นไม้ที่ต้องล้อมย้ายออก ส่วนสะพานข้ามแยกทั้ง 4 จุดที่จะมีการก่อสร้าง จะมีลักษณะคล้ายกับสะพานข้ามแยกนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในแต่ละจุดเองได้ข้อสรุปหมดแล้วไม่ติดขัดด้านอื่นที่จะทำการก่อสร้าง ประชาชนในพื้นที่ก็เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้าง มีเพียงบางประเด็นที่ต้องการให้ปรับปรุงคือ จุดกลับรถในทาง ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ประชาชนทั้ง 2 ข้างทางต้องการให้เปิดจุดกลับรถมากๆ เพื่อความสะดวก แต่โดยศักยภาพของทางหลวงหมายเลข 11 ซึ่งเป็นทางหลักที่นำผู้คนเข้าเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด หากเปิดจุดกลับรถมากๆ ก็จะเป็นปัญหาของทางหลวงที่อาจไม่ปลอดภัย จุดกลับรถในทางยังจะคงจุดเดิมไว้เกือบทั้งหมด จุดที่ต้องปิดคือจุดกลับรถที่อยู่ใกล้สะพานข้ามแยก ซึ่งมีเพียงจุดเดียวที่จะปิดคือ จุดกลับรถให้แยกสารภี ที่เรียกกันว่าแยกวัดใจ ก็จะให้ไปใช้จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแยกสารภีแทน โดยตลอดทั้งโครงการเดิมมีจุดกลับรถทั้งสิ้น 11 จุด ก็จะเหลือเพียง 10 จุดที่จะทำการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วย” นายช่างโครงการฯ กล่าว
นายประลองยุทธ์ กสิวงศ์ นายช่างโครงการฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ยังเป็นห่วงคือ ในช่วงการก่อสร้างขอให้พี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านใช้ความระมัดระวังมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ ขอให้ใจเย็นลงบ้างในขณะที่ต้องสัญจรผ่านบริเวณก่อสร้าง เพราะบางครั้งการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ความเร็วในการสัญจรบ้าง ทั้งนี้ได้มีการกำชับให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ทั้งในส่วนผู้รับจ้างหรือของกรมทางหลวงเอง ให้เข้าใจพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ซึ่งบางครั้งผลกระทบจากการก่อสร้างอาจทำให้รถติดบ้าง แต่เป็นบางช่วงเวลาเท่านั้นที่อาจต้องใช้พื้นที่ถนนไปบ้างสำหรับการทำงาน อย่างเช่นจุดที่ต้องเทปูน ช่องทางจราจรอาจหายไปหนึ่งช่องทาง ก็จะเป็นปัญหากับการจราจรเกิดรถติด อยากวิงวอนให้พี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนใจเย็นลงบ้าง

ร่วมแสดงความคิดเห็น