สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย จัดสำรวจความต้องการประกอบอาชีพของผู้พิการทางการได้ยิน

สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย จัดสำรวจความต้องการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของผู้พิการทางการได้ยิน ภาคเหนือ มีนางมาลินี จันทราทิตย์ เหรัญญิก สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย เป็นประธาน ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ เมื่อวันที่ผ่านมา
นางมาลินี จันทราทิตย์ เหรัญญิก สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2556 กำหนดมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมอาชีพและคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการ หรือให้คนพิการมีโอกาสได้ใช้ความสามารถมีรายได้หรือพึ่งพาตนเองภาระของครอบครัว โดยตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันใน 3 วิธี
ดังนี้ 1.รับคนพิการเข้าทำงาน 2.ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ 3.ให้สัมปทาน หรือสิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ ในส่วนของมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รับคนพิการเข้าทำงานได้ในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน โดยนายจ้างจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจำนวน 1 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการ
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนเปิดโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ แต่ยังมีคนพิการบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าทำงานร่วมกับสถานประกอบการได้ตามพระราชบัญญัติฯ กำหนด เนื่องคนพิการบางคนยังขาดในเรื่องประสบการณ์การทำงานขาดในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนขีดความสามารถและศักยภาพในการทำงานมีไม่เพียงพอและจำเป็นต้องรับการพัฒนาเพิ่มเติมในเรื่องทักษะความรู้ ความเข้าใจ ฯลฯ ทำให้ผู้พิการกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าประกอบอาชีพได้
ที่ผ่านมาคนพิการกลุ่มนี้ยังขาดในเรื่องของการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน (หูหนวก) เป็นคนพิการอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ ดังนั้นในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น คนหูหนวกจึงต้องใช้ล่ามภาษามือ หากไม่มีล่ามภาษามือช่วยแปลแล้วคนหูหนวกก็ไม่เข้าใจ ดังนั้นคนหูหนวกจะใช้ภาษามือในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ ข้อจำกัดที่กล่าวมาจึงเป็นปัญหาในการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารต่างๆ ในสังคม ตลอดจนยังเป็นข้อจำกัดในเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ
อย่างไรก็ตามคนหูหนวกก็ยังมีความต้องการและมีความสนใจในการประกอบอาชีพ แต่ติดขัดในเรื่องของข้อจำกัดในการสื่อสารและทักษะความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานเพื่อเป็นการส่งเสริมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในด้านการส่งเสริมอาชีพและคุ้มครองการทํางานทำของคนพิการทำให้คนพิการมีโอกาสได้ใช้ความสามารถมีรายได้หรือพึ่งพาตนเองภาระของครอบครัว
ทางสมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย จึงมีฐานความคิดในฐานะเป็นองค์กรสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหูหนวกว่าคนหูหนวกสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ในการประกอบอาชีพ เพียงแต่คนหูหนวกต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าถึงและการอธิบายว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ คนหูหนวกก็จะสามารถอธิบายถึงความต้องการในการประกอบอาชีพที่ตนสนใจ ประกอบกับสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในการประกอบอาชีพได้ จึงได้ จัดสำรวจความต้องการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของผู้พิการทางการได้ยินภาคเหนือขึ้น เพื่อสำรวจถึงความต้องการในการเลือกประกอบอาชีพของคนหูหนวกและเพื่อวางแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนหูหนวกต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น