โครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติดที่แม่ริม

                     ร่วมแก้ปัญหา….โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับอำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่และชุมชนบ้านนาหืกได้จัดทำโครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยครอบครัวอุปถัมภ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปี 2560 วันในศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ บ.นาหืก ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  โดยนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ นายอำเภอแม่ริม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด และ นายวรวุฒิ บัวเร็ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาหืกเป็นผู้กล่าวรายงาน

ทั้งนี้มี นางนภัสสรณ์ รังสิเวโรจน์ รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และคณะทำงานให้การต้อนรับ และได้รับเกียรติ จาก พ.อ.สุรพัศม์ นำชัยรุ่งรัศมี รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 7 อ.แม่ริม  สาธารณสุขอำเภอแม่ริม ผู้แทนปปส.ภาค 5, ผู้แทนสนง.คุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนสภ.แม่ริม ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวให้กำลังใจสมาชิกที่เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ และร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญบุตรบุญธรรม ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านบ้านนาหืก
โครงการนี้มีขั้นตอนและแนวคิดการดำเนินงาน คือ นำผู้ติดยาเสพติดประเภทยาบ้าที่ผ่านการถอนพิษยา
จากโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่เป็นเวลา 2 เดือนและผ่านการประเมินไม่มีอาการทางกายและทางจิตแล้ว
เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวอุปถัมภ์ของชุมชนที่เข้มแข็งที่บ้านนาหืก ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 2 เดือน

ซึ่งบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว  ได้บูรณาการแนวคิดกระบวนการชุมชนเข้มแข็งและการทำกลุ่มจิต สังคมบำบัด รวมทั้งการใช้หลักการเสริมแรงและการลงโทษในรูปแบบชุมชนบำบัด มาผสมผสานกัน

รวมทั้งการได้เรียนรู้วิถีชีวิต และการมีแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ไม่ใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยให้บุตรบุญธรรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเพื่อนำไปสู่การเลิกใช้ยาเสพติดในที่สุด

จุดเด่นที่เป็นผลจากการดำเนินโครงการ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนนี้ ที่มีต่อผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาไปในทางที่ดีขึ้น โดยให้กำลังใจ ให้โอกาสและยอมรับเป็นสมาชิกของชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ติดยาเสพติดเลิกได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น สามารถดำเนินชีวิตในสังคมโดยไม่กลับไปเสพซ้ำ

อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลบุตรระหว่างครอบครัวจริงและครอบครัวอุปถัมภ์หรือเป็นโรงเรียนพ่อแม่ ในการดูแลผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด ให้กับครอบครัวจริง นั่นเอง นอกจากนี้ยังส่งผล
ถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงที่ยอมรับผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษามากขึ้น

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น