ตรังขยายโอกาสการค้า ก้าวสู่ภูมิภาคภาคเหนือ

จ.ตรัง เดินหน้าจัดกิจกรรมเปิดช่องขยายโอกาสทางการค้าสู่ภูมิภาคภาคเหนือ นำผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้าภูมิปัญญา 5 จังหวัด ฝั่งอันดามัน ร่วมลงพื้นที่ทำตลาดใหม่ออกบูธวางจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของดีแก่ประชาชนในพื้นที่ จ.ลำปาง
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ร่วมกับ สำนักงานพาณิชย์ 4 จังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน เดินหน้าจัดกิจกรรมเชิงรุกพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เปิดช่องขยายโอกาสทางการค้า นำผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนในกลุ่มจังหวัดร่วมเปิดพื้นที่ทำตลาดใหม่ จัดการแสดงและจำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ จ.ลำปาง ในงาน “ของดีอันดามัน : ANDAMAN FAIR 2017” ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมขึ้น ที่ บริเวณลานรถม้า ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าลำปาง ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยมีนายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ พาณิชย์จังหวัดตรัง ร่วมกันนำทีมคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และตัวแทนหน่วยงานองค์กร ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งใน จ.ลำปาง จ.ตรัง และในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามันอีก 4 จังหวัด ทั้งกระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง ร่วมกันให้การต้อนรับและร่วมทำพิธีเปิดงานจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า “ของดีอันดามัน : ANDAMAN FAIR 2017” ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจ มีพี่น้องประชาชนใน จ.ลำปาง จำนวนมากเข้าเลือกชมเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ตามที่ต้องการ ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค โดยล้วนเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพที่มีผู้ประกอบการได้นำมาจัดแสดงและจำหน่ายโดยตรงในราคาสุดพิเศษ

สำหรับการจัดงาน “ของดีอันดามัน : ANDAMAN FAIR 2017” เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน ได้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ “การขยายตลาดสินค้าเศรษฐกิจหลัก กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ประจำปี 2560” ทั้งนี้ เพื่อต้องการยกระดับสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และนำสินค้า GI เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้แก่สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้สินค้าได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค และผู้ซื้อทั้งในระดับพื้นที่และระดับสากล รองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) ของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด ยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่น OTOP SMEs ให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ตลาด รู้จักที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นได้มาตรฐาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพื่อเป็นการหาพื้นที่พัฒนาขยายช่องทางทางการตลาดและการบริการ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว เพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น