คุมมาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่ม จิ้งหรีด -ไก่พื้นเมืองติดโผ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าผลการประชุมของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มีมติเห็นชอบให้เร่งประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่มเติม 7 กลุ่ม คือ ฟาร์มจิ้งหรีด, ฟาร์มไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย , ไหมอินทรีย์ ,การผลิตเชื้อเห็ด , สารพิษตกค้าง , มะนาวและ แตงกวา โดยมี 3 กลุ่มที่เป็นสินค้าที่มีการผลิตอย่างแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและมีโอกาสทางการตลาดสูง คือมาตรฐาน จีเอพี (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ) ฟาร์มจิ้งหรีด ฟาร์มไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย และสินค้าไหมอินทรีย์ เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ต่อผู้บริโภคภายในประเทศและเพิ่มโอกาสส่งออกมากขึ้นอีกด้วย


(ขอบคุณภาพจาก : ศิริพรฟาร์ม สันทราย เชียงใหม่ )

ทั้งนี้ จิ้งหรีดมีแนวโน้มทางการตลาดดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด มากกว่า 20,000 ราย ผลผลิตปีละ 7,500 ตัน มีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปี สหภาพยุโรป หรือ อียู จัดให้แมลงเป็นอาหารชนิดใหม่ ประกอบกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอส่งเสริมให้มีการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากแมลงเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูงราคาถูก และผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นที่ อ.สันทราย เชียงใหม่ และ สารภี ลำพูน เลี้ยงกันมาก สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นเป็นอย่างดี

สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากใช้เงินลงทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย เมื่อนำมาแปรรูปหรือประกอบอาหารก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบปิดเนื่องจากเนื้อแน่นและมีรสชาติดีกว่าปัจจุบันไทยมีไก่พื้นเมืองรวมกว่า 72.4 ล้านตัวทั่วประเทศ

 เลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบมีโรงเรือน

ส่วนไหมอินทรีย์ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประมาณเกือบ 100,000 ราย มีแนวโน้มที่ตลาดจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินค้าอินทรีย์ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากไหมอินทรีย์ เช่น แผ่นมาร์คหน้า ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานอินทรีย์สำหรับไหมนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้กำหนดมาตรฐาน ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด สำหรับลำไย มะม่วง และมังคุด ซึ่งหากกำหนดค่ามาตรฐานไว้จะเป็นประโยชน์ในการขยายตลาดเพิ่ม เช่น ส่งไปที่เกาหลีใต้ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น