สนพ. สนับสนุนองค์กรสีเขียวส่ง Real Time Power Monitoring

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือสถาบันพลังงาน มช. เป็นผู้ดำเนินงาน โครงการสาธิตการพัฒนาวิธีตรวจติดตามการใช้พลังงานภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยระบบ Real Time Power Monitoring เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงานภายในสถานศึกษา และประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมแก่นักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณและมอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการออกแบบติดตั้งระบบการตรวจติดตามการใช้พลังงาน ด้วยระบบ Real Time Power Monitoring ที่สามารถบันทึกผลการใช้พลังงานไฟฟ้า และแสดงผลสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถเรียกดูผ่านอุปกรณ์ Smart Devices โดยได้ดำเนินการติดตั้งให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10 โรงเรียน แบ่งเป็นภาคเหนือ 8 โรงเรียนและภาคใต้ 2 โรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ โรงเรียนพระหฤทัย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนลำปางกัลยาณี โรงเรียนทีปราษฎร์พิทยา และโรงเรียนเกาะสมุย ตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2559 ก่อนโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้ง 10 โรงเรียน อยู่ที่ 551,667 kWh ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2560 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกระตุ้นและสร้างจิตสำนึก พร้อมดำเนินการติดตั้ง ระบบ Real Time Power Monitoring และบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในโรงเรียนได้ดีขึ้น มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้ง 10 โรงเรียน อยู่ที่ 484,175 kWh ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อยู่ที่ 67,492 kWh หรือคิดเป็นร้อยละ 12.23 และขณะเดียวกันได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเรื่องการบริหารจัดการพลังงานภายในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กับผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรของโรงเรียน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพลังงาน โดยใช้ระบบ Real Time Power Monitoring เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และวางแผนและได้อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานให้กับนักเรียน ของทั้ง 10 โรงเรียน ผ่านกิจกรรมเชิงสันทนาการ

โดยจัดให้มีกิจกรรม การประกวดการแข่งขันลดใช้พลังงานระหว่างโรงเรียน และการประกวดสื่อรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานภายในโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากคณะครู และนักเรียนของทั้ง 10 โรงเรียนเป็นอย่างดี เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าไฟของโรงเรียน และสามารถทราบจุดรั่วไหลของพลังงานได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้ ระบบ Real Time Power Monitoring กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า แก้ปัญหาการใช้ไฟฟ้าเปลืองได้อย่างตรงจุด และยกระดับองค์กร ให้เป็นองค์กรสีเขียวต่อไป

ทั้งนี้ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวแถลงผลความสำเร็จการดำเนินงานโครงการ ฯ ผ่านระบบ Video Call พร้อมกล่าวขอบคุณคณะอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนทั้ง 10 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ ในงานแถลงความสำเร็จและมอบประกาศนียบัตรแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ ห้องประชุมประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยการ Video Call นี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางมาร่วมงานได้ประมาณ 0.095 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ถือเป็นแบบอย่างของผู้นำองค์กรยุคใหม่ที่ใส่ใจประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ร่วมแสดงความคิดเห็น