หวั่นธุรกิจป่วน หลังแรงงานต่างด้าว ยอดหายกว่าครึ่ง


สรุปยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 7.7 แสนคน หายจากระบบกว่าครึ่ง หวั่นวิกฤตป่วนธุรกิจ ชี้ร้านอาหาร ภาคเกษตร กลุ่มแม่บ้านหนักสุด ฟันธง 3 ปมแรงงานเถื่อนซุกใต้ดิน ส่วนใหญ่ไปแล้วไม่กลับ กลัวจ่ายค่าปรับย้อนหลัง ติดล็อก 39 อาชีพสงวน
ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว กระทรวงแรงงาน สรุปตัวเลขการยื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าวของนายจ้าง และผู้ประกอบการ เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 ยอดรวมทั้งสิ้น 7.72 แสนคน น้อยกว่าที่กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่า จะมีนายจ้าง ผู้ประกอบการยื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าว 8 แสนคน ถึง 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตัวเลขที่มีการคาดการณ์ว่า มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย 2-3 ล้านคน แล้วค่อนข้างห่างไกลกันมาก ตัวเลขห่างกันกว่า 2-3 เท่าตัว และแม้กระทรวงแรงงานจะชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทยไม่ได้มากเหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเชื่อมั่น ว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่หายไปจะไม่ทำให้เกิดขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่างจังหวัดเริ่มวิตกกังวลว่า ปัญหาแรงงานขาดจะเกิดขึ้นกับบางสาขา โดยเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม แรงงานด้านการเกษตร แม่บ้าน ขายปลีก แผงลอย เป็นต้น
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากที่กรมการจัดหางานได้เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้นายจ้างมายื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าว ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 ล่าสุดมีจำนวนผู้มาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรวม 772,270 คน มากที่สุดคือ ชาวเมียนมา 451,515 คน กัมพูชา 222,907 คน และลาว 97,848 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าว แม้ค่อนข้างน้อย แต่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า จะมีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียน 800,000-1,000,000 คนสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยไม่ได้มีมากเท่ากับที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ และหลังจากนี้จะเป็นไปตามขั้นตอน คือ แรงงาน
ต่างด้าวต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อยื่นขอใบอนุญาตทำงานต่อไป ในส่วนของนายจ้างที่ไม่ได้พาแรงงานมาขึ้นทะเบียน จะต้องให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ จากนั้นต้องนำเข้าตามระบบ MOU
สำหรับประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนใช้แรงงานต่างด้าวสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ภาคก่อสร้าง 181,772 คน, เกษตรและปศุสัตว์ 170,854 คน, จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 70,384 คน, การให้บริการต่างๆ (ไม่รวมรับเหมา) 58,914 คน และกิจการผู้รับใช้ในบ้าน 51,512 คน พิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีมาแจ้งมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 152,904 คน, ชลบุรี 36,734 คน, สมุทรปราการ 33,645 คน, ปทุมธานี 28,521 คน และระยอง 28,320 คน ส่วนจังหวัดที่มีมาแจ้งน้อยที่สุด คือ ยโสธร 83 คน
“ช่วงเวลาหลังจากนี้ถึงสิ้นปี 2560 ซึ่งชะลอการบังคับใช้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นช่วงที่จะไม่มีการจับปรับดำเนินคดีนายจ้าง แม้จุดนี้อาจเป็นช่องโหว่ทางหนึ่งได้ แต่อยากให้มองเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่าว่า ต้องการให้นายจ้างดำเนินการอย่างถูกต้อง หลังจากพ้นช่วงที่มีการผ่อนปรนให้แล้ว จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาอยู่ในระบบทั้งหมด”
นายวรานนท์กล่าวว่า ประเด็นที่ทางกระทรวงแรงงาน กับกรมการจัดหางาน เป็นห่วงและกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ ขณะนี้เริ่มมีนายหน้าเถื่อนแอบอ้างจะนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้นายจ้าง และผู้ประกอบการ แล้วเรียกค่าตอบแทนจากนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ ซึ่งตนได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้วว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา หากตรวจพบว่ามีการแอบอ้างจริง โดยไม่ได้เป็นนายจ้างที่ขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวเอง หรือไม่ได้เป็นบริษัทนำเข้าแรงงานที่ได้รับใบอนุญาต จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดทันที หากผิดจริงจะมีโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนค่อนข้างน้อย อาจมาจากภาคอุตสาหกรรมรวมถึงโรงงานได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วส่วนใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวที่เหลือมาขึ้นทะเบียนทั้งหมดให้ได้
สำหรับกลุ่มที่ยังเข้ามาขึ้นทะเบียนค่อนข้างน้อย คือ กลุ่มแรงงานในบ้าน ขายปลีก แผงลอย ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา
ไม่มีการสำรวจจำนวนที่แท้จริง ส่วนกรณีต้องขยายเวลาขึ้นทะเบียนหรือไม่เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องพิจารณา
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนแรงงาน
ที่ยังมีน้อยเพราะให้เวลาเพียง 15 วัน และจากที่ได้ลงพื้นที่
บางจังหวัดค่อนข้างมีแรงงานมาขึ้นทะเบียนหนาแน่น บางจังหวัดมีปริมาณน้อย แม้จะประชาสัมพันธ์แล้วว่า
สามารถไปขึ้นทะเบียนได้ทุกศูนย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประเด็นนี้รัฐต้องแก้ไขต่อไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนแรงงานด้วยระบบออนไลน์อยู่ในระดับน่าพอใจ อาจจำเป็นต้องขอรัฐขยายเวลาขึ้นทะเบียน
ด้านแหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.ระบุว่า มีข้อน่าสังเกตว่าการขึ้นทะเบียนขอใช้แรงงานต่างด้าวครั้งนี้ที่ยอดการขึ้นทะเบียนน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก หากเป็นเพราะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทยมีน้อยถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่หากมาจากแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่กลับประเทศ ไม่มีนายจ้าง หรือมีนายจ้างแต่นายจ้างไม่นำมาแจ้งขึ้นทะเบียน แต่อาศัยช่วงเวลาที่รัฐบาลผ่อนปรนใช้แรงงานผิดกฎหมายต่อไปอีก 4-5 เดือนจากนั้น เมื่อรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ค่อยหาทางแก้ เช่น หากจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวค่อยยื่นคำขอใหม่ อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงสุดคือแรงงานขาดจะยังเป็นปัญหาหนักสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ และอุตสาหกรรมทั้งระบบ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนน้อย มาจาก 3 สาเหตุ คือ 1) เงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องพิสูจน์กันว่าเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้เมื่อ 23 มิ.ย.
ที่ผ่านมา ซึ่งนายจ้างค่อนข้างกลัวว่าจะถูกลงโทษย้อนหลัง 2) อาชีพสงวน 39 อาชีพ ยังไม่มีความชัดเจนในการขึ้นทะเบียน ซึ่งส่วนนี้มีจำนวนแรงงานต่างด้าวพอสมควร ในขณะที่อธิบดีกรมการจัดหางานได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า
พร้อมจะทบทวนปลดล็อกอาชีพสงวนดังกล่าวตามสภาพ
ความเป็นจริงในปัจจุบัน และ 3) แรงงานต่างด้าวในสวนยาง และสวนปาล์ม มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มาขึ้นทะเบียน
เพราะมีกระแสข่าวว่ารัฐจะแก้บทลงโทษขั้นต่ำที่ 400,000 บาท ให้ลดลงมาอยู่ที่ 2,000-10,000 บาท
นางศิริพร ตันติพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังประกาศใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ คาดว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศไปแล้ว เมื่อเปิดให้นายจ้างนำแรงงานไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง ทำให้มีแรงงานไปจดทะเบียนน้อย ในส่วนของเชียงใหม่ขณะนี้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และแรงงานกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเชียงใหม่รายงานว่า มีนายจ้างนำลูกจ้างคนต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนแรงงาน 9,053 ราย แบ่งเป็น นายจ้างบุคคลธรรมดา 8,347 ราย นิติบุคคล 699 ราย ประเภทต่างชาติ 7 ราย ขณะที่ลูกจ้างต่างด้าวมาขึ้นทะเบียน 37,665 ราย
แบ่งเป็น เมียนมา 37,445 ราย ลาว 94 ราย กัมพูชา 126 ราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น