เชียงใหม่ มอบรถกู้ชีพฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมมอบรถกู้ชีพฉุกเฉิน นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าเพิ่มเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยไปในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อเพิ่มมาตรฐานการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 ส.ค.60 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนายทอง พันทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนายอนันต์ อินต๊ะเรือง นายกองค์การบริการส่วนตำบลยางเปียง ร่วมลงนามความร่วมมือในการกำหนดบทบาทและภาระหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีนโยบายที่สอดคล้องกันในเรื่องการขยายหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับสาธารณภัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ขึ้น

 

โอกาสนี้ ได้มอบรถกู้ชีพโครงการพัฒนาหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินงบพัฒนาจังหวัด ปี 2560 (งบเหลือจ่าย) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด ปี 2560 จำนวน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) โดยได้ทำการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน (ขับเคลื่อนสี่ล้อ) พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพพื้นฐาน จำนวน 1 คัน มอบให้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ในพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ มีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น สามารถดำเนินงานและบริหารจัดการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการอย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ ที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นต้นและการช่วยฟื้นคืนชีพ ไปในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หรือโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มมาตรฐานการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป

ด้าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จะร่วมดำเนินงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สนับสนุนด้านวิชาการ ในการจัดบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดฝึกอบรมบุคลากรหลักสูตรการปฐมพยาบาลและการช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ฯลฯ สนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สายด่วน 1669 หากประชาชนท่านใดประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งได้ทันที ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น