รัฐ-เอกชน ร่วมบูรณาการแผน ตลาดเกษตรอินทรีย์-ลู่ทางการค้า

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ ไม่พึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี  นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ

เชียงใหม่ 1ในต้นแบบนำร่องแผนบูรณาการเกษตรอินทรีย์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ เพิ่มจำนวนเกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ


ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ความมั่นคงทางอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มีองค์ประกอบสำคัญๆ 4 ประการคือ การมีอาหารเพียงพอ, การเข้าถึงอาหาร, การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร

ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารสูงที่สุด รองลงมาคือ มาเลเซีย และไทย ในขณะที่ประเทศลาวต่ำสุด ปี 2559 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 7,534,737 ล้านบาทโดยข้าวเป็นสินค้าอาหารที่ส่งออกมากที่สุด แต่การผลิตยังมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นปริมาณมาก ซึ่งดูได้จากปริมาณการนำเข้าที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 63.20 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ผลิตข้าวได้ 27.42 ล้านตันข้าวเปลือก ความต้องการใช้ในประเทศ 12.28 ล้านตันข้าวสาร และส่งออก 9.88 ล้านตัน ข้าวสารในปี 2559 ประเทศไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านอาหาร

ด้าน นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินโครงการพัฒนากระบวนการผลิต สู่เป้าหมายครัวไทย ครัวโลก เน้นกระบวนการเกษตรอินทรีย์ สินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้คัดเลือกสินค้าสหกรณ์ ที่มีศักยภาพส่งออกสู่แหล่งจำหน่ายสินค้าหลากหลายและครบวงจร เช่น ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ตลาดในจีน เป็นต้น

ทั้งนี้จีนเป็นประเทศที่เป็นความหวังของการส่งสินค้าสหกรณ์ไปจำหน่าย เพราะผู้บริโภคชาวจีนนิยมสินค้าประเภทข้าวหอมมะลิ ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เครื่องแกง เครื่องต้มยำ อาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว สินค้าสปา กลุ่มหัตถกรรม ผ้าไหม เครื่องหนัง ซึ่งโครงการส่งเสริมสินค้าสหกรณ์สู่ตลาดจีน จะเป็นอีกตัวอย่าง ต้นแบบนำร่องในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายในการยกระดับสินค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

นางอรทัย ออประยูร ตัวแทนบริษัทประชารัฐสามัคคีลำพูน วิสาหกิจเพื่อสังคม ระบุว่าที่ผ่านมาจังหวัดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในลำพูน ได้พัฒนา สร้างเสริมศักยภาพสินค้า ผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนทั้งด้านเกษตร สินค้าต่างๆสู่ตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนก็จะส่งผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปไปตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มผู้ค้ากับกลุ่มตลาดจีนที่มีการร่วมลงนามกันเป็นระยะ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกษตรชุมชนได้อย่างดี

ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปจากลำพูน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในไทยและส่งออก


@chiangmainews

ร่วมแสดงความคิดเห็น