จิตอาสาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ พลังขับเคลื่อนจากมหา’ลัยสู่สังคม

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์รณภพ เอื้อพันธเศรษฐ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษา เพื่อให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย (Purposeful learning) การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (Generatic learning) การเรียนรู้เพื่อส่วนรวม (Mindful learning) และการเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติ (Result based learning)

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการให้มี ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU VOLUNTEER CENTER) มุ่งหวังให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการประสานงานและบูรณาการ การเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนานักศึกษา โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในลักษณะของการเรียนรู้ผ่านการบริการวิชาการชุมชน (Community service learning) และ/หรือ การใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community as classroom) ในระยะแรกของการดำเนินการเพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ทางศูนย์อาสาสมัครได้สร้างระบบการดำเนินงานโดยใช้ฐานดำเนินงานจากกองพัฒนานักศึกษา โดยเลือกประเด็นนำร่องจิตอาสา 7 ด้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมหรือต้นทุนทางด้านจิตอาสาที่กองพัฒนานักศึกษามีประสบการณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมดังกล่าวแก่นักศึกษา ประกอบด้วย 1. ด้านการบริจาคโลหิต 2. อาสาสมัครในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ (Area-based) 3. ด้านการปลูกป่า สร้างคน 4. ด้านความปลอดภัย 5. ด้านการจัดการอนามัยและสิ่งแวดล้อม 6. ด้านเพื่อนผู้พิการ 7. ด้านประสานงานและอำนวยความสะดวกโดยการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อกลาง (Liaison)

ภารกิจแรกของศูนย์ฯ ที่นำร่องจิตอาสา 7 ด้านเพื่อสร้างบทเรียนการเรียนรู้ (Lesson learned) ในรูปแบบของนักจัดการอาสาสมัคร (Volunteer manager) จึงได้เกิดขึ้น และสร้างระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินการ โดยมีระบบย่อย 4 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบอาสาสมัคร ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่ การวางแผน การคัดเลือก การเตรียมความพร้อม การติดตามสนับสนุนการทำงาน การประเมินผลและการผูกสัมพันธ์การรักษาอาสาสมัคร 2. ระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง อาสาสมัครและนักจัดการอาสาสมัคร รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ (http://volunteercenter.cmu.ac.th) 3. ระบบการจัดการทรัพยากร ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนานักจัดการอาสาสมัคร งบประมาณ วัสดุ และครุภัณฑ์ 4. ระบบการสร้างภาคีเครือข่าย ทั้งภาคีเครือข่ายในมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย

การจัดการอาสาสมัครเป็นทักษะที่สำคัญดังนั้นภารกิจของศูนย์อาสาสมัครในระยะแรก จึงเร่งสร้างนักจัดการอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยทั้งในระดับ คณะ หน่วยงาน และองค์การนักศึกษาให้มีขึ้นอย่างพอเพียง พลังความดีดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดจาก คนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง หรือจากกลุ่มหนึ่งสู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพลังความดีเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการส่งต่อพลังจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสู่สังคมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น