มิติใหม่แห่งการเรียนการสอนภาษาจีนในศตวรรษที่ 21 

ภาษา ถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งในปัจจุบัน “ภาษาจีน” ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศด้วยกัน เป็นภาษาสากลที่มีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรโลก และเป็นหนึ่งในภาษาทางการที่ถูกใช้ในการประชุมต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการติดต่อค้าขาย และมีความสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่า 30 ปี ภาษาจีนจึงมีความสำคัญทั้งทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทย ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนในระดับอุดมศึกษา ก็ได้เปิดให้มีการจัดการเรียนการสอน “ภาษาจีน” โดยเริ่มเรียนตั่งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลก็ว่าได้

อาจารย์ประจำวิชาภาษาจีน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คนจะเรียนภาษาจีนได้ดีนั้น ก่อนที่จะเรียนรู้ในสิ่งอื่น จะต้องเข้าถึงวัฒนธรรมของเจ้าของภาษานั้นๆ ให้ได้เสียก่อน ปลูกฝังทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล ซึ่งในชั้นเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้สอนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิมที่เน้น “ความรู้”

โดยครูเป็นผู้บอก มาเน้น “ทักษะ” ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้สอนคอยเป็นโค๊ช (Coach) ให้กับผู้เรียน สร้างจุดเด่นของผู้สอน เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ผู้สอนและผู้เรียนต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ครูเป็นผู้ริเริ่มสร้างบรรยากาศ นักเรียนเป็นผู้ตอบสนองและเพิ่มสีสันให้กับชั้นเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ และมีเจตคติที่ดีต่อภาษาจีนตั้งแต่วัยเด็ก กระตุ้น ยั่วยุให้ผู้เรียนอยากที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

มีการใช้สื่อประกอบในการทบทวนความรู้เดิม เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์และความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ของผู้เรียน เช่น บัตรคำ รูปภาพ หรือแม้กระทั่งตัวผู้สอนเองก็ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ได้เช่นกัน พยายามค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่เร้าให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ เปิดโอกาสให้ได้ค้นหาคำตอบอย่างเต็มที่ จนเกิดความเข้าใจและเกิดการรับรู้ความรู้นั้นอย่างมีความหมาย ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ที่คงทน จนสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ผมไม่ต้องการเห็นนักเรียนที่ “จำเก่ง หรือ “ท่องเก่ง” เป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ผมต้องการเห็นนักเรียนที่ “ใฝ่รู้” และ “อยากเรียนรู้” สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา รู้จักวิธีที่จะเรียนรู้ คือ มีทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) พร้อมกับ มีทักษะชีวิตที่ดีด้วย (Life Skill) เมื่อมีทั้งสองอย่างนี้แล้วการเรียนรู้ “ภาษาจีน” ก็ไม่ยากอย่างที่คิด หรือแม้แต่จะเรียนวิชาใดก็สามารถเรียนได้ดีแน่นอนครับ

อ่านข่าวอื่นๆ..เพิ่มเติม

ร่วมแสดงความคิดเห็น