พาณิชย์นำทัพ เชื่อมการค้าไทย-สิงคโปร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำทัพผู้แทนไทย เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนไทย-สิงคโปร์ ผ่านการประชุม “STEER” พร้อมขยายความร่วมมือระหว่างกันในหลายสาขา เผยปี 59 สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียนและเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในโลก โดยมีมูลค่าการค้ากว่า 14,737.32 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุม STEER ครั้งที่ 5 ร่วมกับนายลิม ฮึง เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันในหลายสาขา เช่น ด้านเกษตรและอาหาร ความร่วมมือด้าน ICT การลงทุน การบิน พลังงาน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU ความร่วมมือเรื่อง Start-ups 2 ฉบับ ระหว่างหน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE Singapore) กับเอกชนไทย 2 ราย คือ บริษัท C-ASEAN และบริษัท Hubba
นางอภิรดี กล่าวต่อว่า การประชุม STEER ครั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับสิงคโปร์ ในขณะที่สิงคโปร์ได้อนุมัติโรงงานสัตว์ปีกสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มเติม ให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดแช่เย็นแช่แข็งไปสิงคโปร์ได้โดยตรง จากเดิม 2 โรงงาน เป็นทั้งหมดจำนวน 23 โรงงาน และอนุมัติการนำเข้าไข่ไก่จากไทย 2 ฟาร์ม รวมทั้งยังแสดงความสนใจในผลิตภัณฑ์ออแกนิคจากไทยด้วย สำหรับสินค้ารังนกตากแห้งที่สิงคโปร์ประสงค์จะส่งออกมาไทย ไทยแจ้งว่าได้เริ่มดำเนินการตามระเบียบใหม่ของกรมปศุสัตว์แล้ว นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังได้เสนอความร่วมมือ ICT ในด้าน Cyber Security, Online Consumer Protection และ Electronic Signatures ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงจะประสานงาน และดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับด้านการลงทุน ไทยได้เชิญชวนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนใน EEC ซึ่งสิงคโปร์ได้แสดงความสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยานแบบซ่อมทั้งลำ รวมทั้งสนใจร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ (cruise)ทั้งในด้านการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเรือสำราญร่วมกัน และการพัฒนาศูนย์กลางท่าเทียบเรือสำราญ ซึ่งไทยแจ้งว่าอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือ cruise ที่กระบี่ และสมุย สำหรับในด้านพลังงาน ไทยได้ผลักดันให้มีความร่วมมือด้านเอทานอล เนื่องจากไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้ในอนาคต และเห็นว่าสิงคโปร์เป็นช่องทางกระจายเอทานอลที่สำคัญ หากมีความร่วมมือระหว่างกันจะเป็นการเปิดตลาดเอทานอลของไทยให้สามารถส่งออกไปประเทศอื่นได้มากขึ้น ซึ่งสิงคโปร์ได้แสดงความสนใจในความร่วมมือดังกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีต่อความคืบหน้าในการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ด้านการบิน ทั้งการเจรจาแก้ไขความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศเพื่อเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกัน และการลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือด้านการบินเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความปลอดภัยทางการบินและความรู้ทางเทคนิคต่างๆ 2.การจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement: MRA) ในเรื่อง Authorized Economic Operator (AEO) ระหว่างกรมศุลกากรไทยกับสิงคโปร์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของการเคลื่อนย้ายสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละฝ่าย และ 3.ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำ MOU ด้านการให้บริการตรวจสอบสิทธิบัตร โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยได้แต่งตั้ง Intellectual Property Office of Singapore (IPOS) ให้เป็นองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศ และองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปี 2559 สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5ของไทยในโลก โดยในปี 2559 การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 14,737.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.43 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 1,715.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค. – มิ.ย.) การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 8,365.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.90 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 312.29 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญไปสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ แผงวงจรไฟฟ้า นางอภิรดี กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น