เกษตรร่ายผลงานครึ่งปีเข้าเป้า รายได้ครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้น

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงสื่อฯว่า จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือสศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2560 และแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหรือ จีดีพี.เกษตร ขยายตัวสูง11.5 % ทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสาขาพืชที่โตถึงร้อยละ 15.5 สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ซึ่งระบุข้อมูลว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.7


0… พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
น่าสนใจว่าภาคเกษตรมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.8 ขณะที่ภาคนอกเกษตร ขยายตัว 2.7 % ผลผลิต สินค้าเกษตรที่สำคัญทั้งสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด เงาะ ไก่เนื้อ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ น้ำนมดิบ และกุ้งเพาะเลี้ยง มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นอาหารและวัตถุดิบเพิ่มสูง ตลอดจนนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่าง ๆที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้ ศพก. 882 ศูนย์ การสร้าง สมาร์ท ยังและสมาร์ท ฟาร์มเม่อร์ การยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ รวมทั้งการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ทำให้เศรษฐกิจเกษตรระดับภูมิภาคเติบโตตามแผนฯ


สำหรับความก้าวหน้าของโครงการ 9101นั้น มีการเสนอ24,760 โครงการ วงเงิน 20,054.62 ล้านบาท (ข้อมูล 26 สค.60) คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ได้พิจารณาและอนุมัติ 24,168 โครงการวงเงิน 19,867.20 ล้านบาท หรือ 99.07 % จากวงเงินที่ชุมชนเสนอ
ทั้งนี้วงเงินที่อนุมัติ แบ่งเป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ 9,793.93 ล้านบาท ร้อยละ 99.16 ค่าจ้างแรงงาน 9,131.05 ล้านบาท หรือ 91.40 % เฉลี่ยค่าจ้างที่ได้ 2,650 บาท/คน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศ กว่า17,000 ล้านบาท การขับเคลื่อนโครงการสำคัญของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณปีนี้90,050.07 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 72,100.90 ล้านบาท หรือร้อยละ 80.07 ของงบประมาณที่ได้รับ ปีนี้คาดว่าจีดีพี.ภาคเกษตร จะขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 (มูลค่า 639,000 – 645,000 ล้านบาท)


หากพิจารณารายได้เงินสดของครัวเรือนเกษตร ทั้งปีจะอยู่ที่ 160,835 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2รายได้ส่วนใหญ่มาจากผลผลิตพืช 70.98 % รองลงมาคือ ผลผลิตสัตว์ ร้อยละ 25.43 และการเกษตรอื่นๆร้อยละ 3.59 ตามลำดับ กลุ่มสินค้าเกษตรหลัก ในภาพรวมจะเป็น ข้าว ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่ ปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามลำดับ ในช่วงไตรมาส3-4ปีนี้ ต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพการใช้จ่ายของครัวเรือนเกษตรที่มีภาระหนี้สิ้นสะสมอยู่ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น