ประเพณีตานสลากเมืองลำพูน

          ประเพณีทานสลาก คือ การทำบุญสลากภัตในล้านนาไทย  มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น บางแห่งว่า “กิ๋นก๋วยสลาก” บางแห่งเรียก “กิ๋นสลาก” “ตานก๋วยสลาก” ในความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สำหรับวิธีการทำบุญมีแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นของตน

ประเพณีกินก๋วยสลาก  หรือทานสลากนี้เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่พุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ  พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้  พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่าทำไมท่านจึงมีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง  พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า  โกณฑธานปรารถนาว่าถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ  ดังนั้นในชาตินี้โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี

ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง  นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในพระเชตวันเข้าไปพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่  นางเอาลูกน้อยวางแทบเท้าพระบาทแล้วกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าได้หยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา  และนางยักขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรธรรมนี้เป็นของโบราณ” แล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักขินีรับศีล 5 แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น  กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว  นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วยนางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ  นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่องราว อุตุนิยมวิทยา คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้นยิ่งกว่าคนอื่นๆ ในละแวกนั้น คนทั้งหลายจึงมีความสงสัยจึงถามนางกุมาริกาว่าเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า นางยักขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้  คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางขอบอกให้อย่างเดียวกับนางกุมาริกา  คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตามๆ กัน  ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภค อาหารการกินเครื่องใช้มาสังเวยอยู่เป็นอันมาก ข้าวของที่สำนักนางยักขินีจึงมีมากเหลือกินเหลือใช้ นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตรโดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนเอง ดีหรือไม่ดี  การถวายแบบจับสลากของนางยักขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัต หรือทานสลากในพระพุทธศาสนา

การทำบุญทางสลากภัต นับเป็นประเพณีที่สำคัญของล้านนาไทยประการหนึ่ง  เนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดทำมาแต่โบราณจนกลายเป็นประเพณีสืบมาช้านานคือ

1.ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา

2.ผลไม้ เช่น ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยง กำลังสุก

3.ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน

4.พระสงฆ์จำพรรษาอย่างพรักพร้อม

5.ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจนเป็นสังคหทาน

6.ถือว่าเป็นอานิสงส์แรง  คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลาภวาสนา

7.มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด

ด้วยเหตุผล 7 ประการนี้ ประชาชนชาวไทยในล้านนาจึงนิยมทำบุญสลากภัตกันเกือบทุกวัน มีแต่ว่าหากวัดใดมีงานตั้งธรรมหลวง (ฟังมหาชาติ) วัดนั้นจะเว้นจากการทำบุญสลากภัต

ประเพณีถวายสลากภัตหรือประเพณีถวายข้าวสลาก หรือ กินก๋วยสลากนั้น ทำกันมาตั้งแต่เดือน 12 เหนือเพ็ญ เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนยี่เหนือ คือช่วงเดือน 11-12 ของภาคกลาง ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายเป็นก๋วยสลาก  นิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมารับไทยทานสลาก ซึ่งศรัทธาประชาชนร่วมกันถวาย สลากภัตของทางเมืองเหนือ ประกอบด้วย

1.สลากหน้อย คือ สลากก๋วยเล็ก

2.สลากก๋วยใหญ่ หรือ สลากโชค

สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย  หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายหน้า  ส่วนสลากก๋วยใหญ่ ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง  ทำถวายเพื่อเป็นพละปัจจัย  ให้มีกุศลมากขึ้น พิธีถวายสลากภัต ที่นิยมมี 3 ประเภท คือ

1.สลากเอาเส้น ซึ่งประชาชนจับสลาก แล้วนำไทยทานไปถวาย

2.สลากที่พระสงฆ์จับสลาก

3.สลากย้อม  ซึ่งนิยมทำกันในกลุ่มไทยยอง ซึ่งหญิงสาวภายในหมู่บ้านจัดถวายเป็นประเพณี

ประเพณีสลากภัตที่ทำกันในล้านนาในปัจจุบันนี้ นิยมให้พระสงฆ์จับสลากเองเป็นส่วนมาก เพราะง่ายและทุ่นเวลา เพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับสลากภัตของล้านนาไทยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ประเพณีการ “ทานข้าวสลาก” หรือการ “กิ๋นก๋วยสลาก” ตามสำเนียงพูดของเมืองเหนือนี้ หมายถึงประเพณีทานสลากภัต เป็นประเพณีที่ชาวเหนือถือสืบเนื่องมานานแล้ว  การทานก๋วยสลากจะเริ่มในราวเดือน 12 เหนือ (คือเดือน 10 ใต้ เดือนกันยายน) และสิ้นสุดลงในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11 ใต้) การทานก๋วยสลาก (หรือบางแห่งเรียกว่า ตานข้าวสลาก)

ก่อนวันทำพิธี  “ทานก๋วยสลาก”  1 วัน เรียกว่า “วันดา”  คือเป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” (ตะกร้า) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้  ทางฝ่ายผู้หญิงก็จะจัดเตรียมห่อของกระจุกระจิก เช่น ข้าวสาร พริกหอม กระเทียม  เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้าวต้ม และอาหาร เช่น ห่อหมก (ทางเหนือ  เรียกห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อทอด) เนื้อเค็ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไฟ สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ยอด” คือสตางค์ หรือธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้น ไม่จำกัดว่าเท่าใด  แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา  จะอำนวยให้เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก  เขาก็จะใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด  หรือตามศาลาบาตร  และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน (พาน) ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย  ส่วนพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตนี้มีอานิสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก”

การทานก๋วยสลากในภาคเหนือ  มีการผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามความนิยมในท้องถิ่น แต่พิธีไม่ผิดกัน เพียงแต่การเรียกชื่อเท่านั้น เช่น ที่บ้านกู่แดง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีการทานสลากที่เรียกว่า “สลากพระอินทร์” ส่วนที่บ้านประตูป่า บ้านริมปิง และบ้านอุโมงค์ในเขตอำเภอเมืองลำพูน ก็จะมีการทานสลากเรียกว่า “สลากย้อม” สลากย้อมนี้ผู้ถือถวายทานมักเป็นหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ กล่าวคือ หญิงสาวจะต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้  ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาวนับเป็นเวลาแรมปี  เมื่อได้เงินทองพอสมควรและเป็นสาวเต็มตัวแล้วก็จะถวายทานสลากย้อมให้ได้สักครั้งในชีวิต

สลากย้อมนี้จะทำเป็นต้นไม้  หรือกิ่งไม้สูงประมาณ  4 – 5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด  ลำต้นสลากจะมีฟางมัดเป็นกำ ๆ เพื่อจะได้ปักไม้และเครื่องใช้ไทยทาน  ซึ่งมีผลไม้ต่างๆ  เช่น กล้วย อ้อย  ส้มโอ ขนมต่างๆ และมีเครื่องนอน  เครื่องเงิน เครื่องทอง  เช่นเดียวกับการทานสลากโชค  ซึ่งสลากโชคบางทีก็ทำเป็นต้นไม้ หรือกิ่งไม้ก็มี การทานสลากย้อมนี้  ส่วนมากเป็นพวกไทยยอง ไทยยองกับไทยลื้อเป็นพวกเดียวกันที่เรียกว่าไทยยองนั้น เรียกตามชื่อบ้านเมืองเดิมของพวกไทยลื้อกลุ่มนี้ คือ เมืองยอง จึงไทยยอง  ก็เพราะมีความนิยมมาแต่อดีตว่า หญิงสาวผู้ใดที่ยังไม่ได้ทานสลากย้อมก็ยังไม่ควรแต่งงานมีครอบครัว  ต่อเมื่อทานสลากย้อมแล้วจึงจะมีครอบครัวได้  ชีวิตการครองเรือนก็จะมีความสุขความเจริญ ในจังหวัดลำพูน จะมีการทานสลากภัตหรือ “ทานก๋วยสลาก” ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นประจำทุกปี ในเดือน 12 เหนือ (เดือน 10 ใต้) ขึ้น 15 ค่ำ และจัดเป็นงานใหญ่ทุกปี

เมื่อวัดพระธาตุหริภุญชัยฯได้จัดงานประเพณีตานก๋วยสลาก หรือ งานทานสลากภัตแล้ว วัดอื่นๆในจังหวัดลำพูนจึงจะสามารถจัดงานตาน ก๋วยสลากภัตได้  ส่วนตามจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ ก็มีการจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งพิธีการก็ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น