ร่วมมือจัดการขยะชุมชน นครเชียงใหม่ใช้ผลิตปุ๋ย

นายชาตรี เชื้อมโนชาญ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่าช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาปริมาณขยะทุกประเภท ในเขตรับผิดชอบกว่า 40 ตารางกิโลเมตรจะมีเฉลี่ยวันละเกือบ 300 ตัน และผลจากการดำเนินการตามวาระจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทย กำหนดกรอบแนวทางแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอย ผ่านกิจกรรมสร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนักของการมีส่วนร่วมจัดการขยะครัวเรือน ระบบฐานข้อมูลจัดการขยะ การคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง การเก็บรวบรวมของเสียอันตรายชุมชน รูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสม ลดขยะตกค้าง ทำให้เขตนครเชียงใหม่มีขยะลดลงประมาณร้อยละ10-15

นครเชียงใหม่ เร่งจัดการขยะชุมชน

สำหรับขยะที่มีการคัดแยกตามหลัก 3 R คือการลดขยะ(Reduce) คัดแยกขยะ(Recycle) ใช้ซ้ำ(Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่คณะผู้บริหารได้ดำเนินการผ่านโครงการกิจกรรมต่างๆ เช่นขยะแลกไข่ หรือกิจกรรมทำปุ๋ยหมักจากขยะ ธนาคารขยะชุมชน การซื้อขายขยะที่มีการคัดแยกประเภท เพื่อเป็นต้นทุนการออมในชุมชนสู่การใช้เงินรายได้จากการขยะ มาพัฒนากิจกรรมที่สนองตอบความต้องการชุมชน ได้ผลดี ครัวเรือนต่างๆให้ความร่วมมือเพราะตระหนักในผลกระทบจากปัญหาขยะชุมชน

ปัจจุบัน ใช้อัตราจัดเก็บครัวเรือนละ 20 บาท ถ้าเป็นโรงงาน โรงแรมก็จะมีอัตราเหมาจ่ายที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งมีระเบียบ ท้องถิ่นกำหนดชัดเจน จากนั้นขยะที่รวบรวมโดยเอกชน จะนำไปฝังกลบที่อำเภอฮอด ต้องใช้จ่ายงบประมาณจ้างเหมาเอกชนจัดการขยะในพื้นที่ปีละกว่า 200 ล้านบาท ถ้าสามารถลดปริมาณขยะได้ ก็จะประหยัดงบฯสามารถนำมาพัฒนาด้านอื่นๆได้อีกมาก

ในส่วนขยะประเภทเศษ พืช ผัก ผลไม้ ตามตลาด เฉพาะเปลือกมะพร้าว และทุเรียน มีจำนวนสูงถึง5-10 ตันต่อวัน ตามฤดูกาล ได้เก็บนำไปกองรวบรวมไว้ที่ศูนย์จัดการขยะบริเวณสวนหลวง ร.9 ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ จุดจัดการขยะเพื่อจัดทำปุ๋ยแบบไม่กลับกอง ในอนาคตอาจจะมีแบรนด์สู่ตลาด ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาสูตรที่เหมาะสม เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ รวมถึงขยะประเภท กิ่งไม้ ใบไม้พยายามจะจัดหารถย่อยกิ่งก้าน ต้นไม้ เร่งหารือคณะผู้บริหารฯ เพราะภาคประชาสังคม นักวิชาการ ตลอดจนชาวบ้านแนะนำกันมาก หากมีเครื่องจักรย่อยกิ่ง ต้นไม้จะช่วยลดขั้นตอน รวบรวมขยะประเภทนี้นำไปผลิตปุ๋ยที่ศูนย์เรียนรู้ สวนหลวง ร.9 เมืองใหญ่ขนาดนี้ต้องมีตั้งนานแล้ว รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่กล่าวย้ำในตอนท้าย

ปริมาณขยะประเภทเปลือกมะพร้าว ,ทุเรียน ในเขตนครเชียงใหม่สูงเฉลี่ยวันละ 5-10 ตัน
ความมักง่ายในการทิ้งขยะ  กลายเป็นภาระของท้องถิ่นในขณะนี้

ลำพูนปริมาณขยะ 2.28 ตันต่อวันนำกลับมาใช้ประโยชน์ประมาณ 33,547 ตัน ลำปางขยะวันละ 183.32 ตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ราวๆ 23,426 ตัน พะเยา ขยะเฉลี่ยวันละ 128.01 ตันต่อวัน นำมาใช้ประโยชน์ประมาณ 14,973 ตัน เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น