หลากหลายเรื่องราวที่ เมืองพิษณุโลก อดีตราชธานีไทย

ในบรรดาเมืองที่มีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองโบราณและมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยนั้น เมืองพิษณุโลก ก็มีชื่ออยู่ในหลายๆ เมืองเก่าแก่ ทั้งในฐานะที่เคยเป็นเมืองลูกหลวง หรือเมืองมหาอุปราช และในฐานะของอดีตเมืองราชธานีของไทย นอกจากนั้นเมืองพิษณุโลกยังเป็นเมืองหน้าด่านต้องทำการต่อสู้ข้าศึกที่มารุกรานประเทศไทยทางภาคเหนือตลอดมาแทบทุกยุคสมัย บางครั้งแม้ว่าการศึกสงครามจะไม่ได้เกิดขึ้นในดินแดนพิษณุโลกเอง แต่ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องแก่การทัพศึกในด้านกำลังรบหรือในทางเป็นฐานทัพด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพิษณุโลกจะไม่มีซากปรักหักพังของโบราณสถานไว้ให้ชมมากเหมือนเมืองอยุธยาและสุโขทัย แต่เมืองพิษณุโลกก็ยังมีพระพุทธชินราช อันเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วงว่า “… ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอแต่ให้มีพระพุทธชินราชเหลืออยู่ ยังคงอวดได้เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่างหนึ่งอย่างยิ่งในเมืองเหนือหรือว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้…”

เมืองพิษณุโลกนอกจากจะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การสงครามของไทยแล้ว เมืองนี้ยังเป็นที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระราชสมภพ และในอดีตเคยเป็นเมืองราชธานีฝ่ายเหนือของเมืองแถบลุ่มแม่นํ้ายมและน่าน มีพระมหาอุปราชปกครองติดต่อกันมาหลายพระองค์ อีกทั้งในปัจจุบันยังเป็นจังหวัดที่มีความสวยงามในด้านทิวทัศน์ธรรมชาติอยู่มากมาย
ในวันที่ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองพิษณุโลกจึงได้เก็บงำเรื่องราวของเมืองแห่งประวัติศาสตร์มาเล่าสู่กันฟัง เมื่อเดินทางมาถึงพิษณุโลกจะต้องไปแวะวัดใหญ่ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพื่อกราบไหว้พระพุทธชินราชเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยไปไหว้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งศาลของท่านอยู่ภายในพระราชวังจันทน์ ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปหล่อในพระอิริยาบถทรงหลั่งทักษิโณทกเพื่อประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ไปกราบไหว้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ต้องไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมหยกขาวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เขาสมอแครง ซึ่งเป็นภูเขาตั้งอยู่เขตอำเภอวังทอง ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก แค่ 14 กม.บนเขาเป็นที่ตั้งของวัดราชคีรีหิรัญยาราม ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว แกะสลักจากหินหยกสีขาวโดยช่างกรมศิลปากรจีน โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน เจ้าแม่กวนอิมหยกขาวแกะสลักที่เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ว่ากันว่าเป็นบ้านเกิดของเจ้าแม่กวนอิม แล้วเสร็จส่งมาประดิษฐาน ณ เขาสมอแครงแห่งนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2535 องค์เจ้าแม่กวนอิมสูง 3 เมตร หนัก 3 ตัน ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาท
เสร็จจากตระเวนไหว้พระเมืองพิษณุโลกแล้ว ต้องแวะไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมศิลปะพื้นบ้านเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหากินของชาวบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ในการเกษตร ได้แก่ เครื่องวิดนํ้าด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดักจับสัตว์
คุณพรศิริ บูรณเขตต์ ลูกสาวคนเล็กซึ่งสืบทอดเจตนารมย์ของจ่าทวี เล่าว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้คุณพ่อใช้เงินส่วนตัว ในการเก็บรวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ ต่างๆ เนื่องจากท่านเห็นว่าคนไทยมีเครื่องมือเครื่องใช้เยอะมาก อยู่กับธรรมชาติพึ่งพิงกับธรรมชาติ จึงเกิดแนวคิดในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น ถ้าไม่เก็บจะหายหมด โดยคุณพ่อใช้เวลาในการเก็บสะสมข้างของเครื่องใช ้นานถึง 30 กว่าปี
จ่าทวี ได้รับการยกย่องให้เป็น “คนดีศรีเมืองพิษณุโลก” โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้เป็น “บุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ” เมื่อปี พ.ศ.2536 และสภามหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ เสนอชื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ เมื่อปี พ.ศ.2527 เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ฝีมือในทางประติมากรรมและเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปล้านนาไทยไว้มากที่สุดคนหนึ่ง
พิษณุโลก นอกจากนั้นจะมีชื่อเสียงในเรื่องของดี ของโบราณแล้ว กิจกรรมผจญภัยด้านธรรมชาติ เช่นการล่องแก่งลำนํ้าเข็ก ก็นับว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไม่แพ้การล่องแก่งของที่อื่น ลำนํ้าเข็กในบริเวณพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเต็มไปด้วยลำธารน้อยใหญ่ไหลผ่านลงมาเป็นแก่งนํ้าและนํ้าตกหลายสาย ลำนํ้าสายสำคัญคือ คลองวังทอง ซึ่งเป็นลำนํ้าสายใหญ่ที่สุดเกิดจากลำนํ้าเข็กใหญ่ และลำนํ้าเข็กน้อยไหลมารวมกัน เป็นจุดกำเนิดของนํ้าตกและแก่งหินที่สวยงามที่สุดอยู่หลายแห่ง เช่น นํ้าแก่งโสภา นํ้าตกสกุโณทยาน นํ้าตกแก่งซอง รวมถึงแก่งวังนํ้าเย็น
เมื่อมีโอกาสเดินทางไปเยือนจังหวัดพิษณุโลก อยากให้ลองแวะเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราช ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพิษณุโลก และกิจกรรมล่องแก่งลำนํ้าเข็กที่สุดแสนจะท้าทาย จึงจะนับว่ามาเยือนเมืองพิษณุโลกโดยสมบูรณ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น