พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน อ.แม่ทา

อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนถือได้ว่าเป็นเมืองแห่งขุนเขา แมกไม้ สายธาร และวัฒนธรรมพื้นบ้าน มีสายน้ำแม่ทาไหลผ่านอันเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตคนแม่ทามาเป็นเวลาช้านาน
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่กว่าร้อยละ 70 ประกอบไปด้วยผืนป่า สวนลำไย และแปลงนาไร่ ด้วยความที่ อ.แม่ทา เป็นเมืองที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ป่าไม้ จึงทำให้คนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างมากหลาย ทว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อความเจริญของสังคมเมืองไปแพร่ขยายเข้ามายังชุมชนเกษตรกรรม ทำให้แรงงานสายเลือดใหม่ต่างทิ้งไร่นา มุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่เมืองปล่อยให้วิถีชีวิต
ดั่งเดิมของคนที่นี่ถูกทิ้งร้าง ไร่นาถูกขายให้นายทุน เครื่องมือการเกษตร
ถูกทิ้งให้รกร้าง จนทำให้มีกลุ่มพ่อค้าหัวใสเข้ามากว้านซื้อเครื่องมือการเกษตรในราคาถูก

ด้วยแนวคิดที่อยากจะอนุรักษ์วิถีชีวิตดั่งเดิมของสังคมเกษตรกรรม จึงทำให้อาจารย์สุพรรธน์ เตชะโสด อาจารย์ประจำโรงเรียนแม่ทาวิทยาคม ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรมที่บรรพบุรุษได้ทำมาไว้ในอดีตให้ฟื้นกลับคืนมา จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้น จากแนวคิดที่ได้เห็นกลุ่มพ่อค้าเข้ามากว้านซื้อเครื่องมือการเกษตรจากชาวบ้านในราคาถูก
อาจารย์สุพรรธน์ เตชะโสด เล่าว่า แรงบันดาลใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 เมื่อได้เห็นของเก่าใส่หลังรถบรรทุกไปขายผ่านหน้าโรงเรียน โดยพ่อค้าเข้าไปหาซื้อของเก่าในหมู่บ้าน เช่นคันไถอันละ 20 บาท แอกไถนาอันละ 5 บาท ด้วยความกลัวที่ว่าหากปล่อยทิ้งไว้อีกหน่อยลูกหลานจะไม่ได้เห็นสิ่งของเหล่านี้อีก อาจารย์สุพรรธน์จึงได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนทุกห้องให้เกิดสำนึกรักษ์หวงแหนในมรดกพื้นบ้าน โดยให้เด็กนักเรียนไปช่วยหาสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจากผู้ปกครองมาคนละ 1 ชิ้น จนได้ของมาจำนวนมากถึงกว่า 300 ชิ้น พอจัดเป็นหมวดหมู่ขนาดเล็กๆ ได้ในพื้นที่ 1 ห้องเรียน

กระทั่งปี พ.ศ.2534 ได้ประสานงานไปยังศึกษาธิการอำเภอ นายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อประกาศให้ชาวบ้านนำสิ่งของเครื่องใช้มาบริจาค เมื่อได้ของมาแล้วก็จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้โดยขยายพื้นที่จาก 1 ห้องเรียนจนกลายเป็นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านเต็มอาคารทั้งหลัง
อาจารย์สุพรรธน์ ยังเล่าอีกว่าปี พ.ศ.2537 เจ้าสิงห์ไชย ณ ลำพูน ได้เดินทางมาทอดผ้าป่าที่อำเภอแม่ทา แล้วท่านได้แวะมาเยี่ยมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ท่านเกิดความชอบใจจึงมอบเงินสมบทจำนวน 40,000 บาทและสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนหนึ่งให้กับพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านโรงเรียนแม่ทาวิทยาคม จัดแสดงเรื่องราวสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านไว้อย่างเป็นหมวดหมู่กว่า 38 หมวดอาทิ พระเครื่องโบราณ ตำราโบราณ พระธรรมคำภีร์ เงินตรา เครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องใช้ทองเหลือง เครื่องเขิน เครื่องจักสาน เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาวุธโบราณ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ทั่วไป ฯลฯ
นอกจากนั้นภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงสิ่งของที่หาชมได้ยาก
เช่น เรือขุด ที่ขุดจากไม้สักทั้งต้น กว้างเกือบ 1 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตรซึ่งเจ้าสิงห์ไชย ณ ลำพูน เป็นผู้บริจาคให้ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในสังคมการเกษตรของคนลุ่มน้ำ เช่น ข้องใส่ปลา ไซ เครื่องมือดักสัตว์น้ำ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในวิถีของคนลุ่มน้ำแม่ทาที่ส่วนใหญ่มักจะหากินอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำ อันเป็นวิถีชีวิตที่คนลุ่มน้ำแม่ทาถือปฏิบัติกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือให้พบเห็นแล้ว
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านโรงเรียนแม่ทาวิทยาคม จัดแสดงอยู่ภายในอาคารไม้อายุกว่า 50 ปีเปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลาราชการ ตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น.
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวในอดีตและอยากร่วมเดินทางเข้าไปค้นหาคุณค่าแห่งวิถีชีวิตสังคมเกษตรกรรมของคนลุ่มน้ำแม่ทา พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านแห่งนี้อาจเป็นพิพิธภัณฑ์เดียวที่จัดแสดงเรื่องราวสิ่งของเครื่องใช้ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดก็ว่าได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น