“ตุง” เครื่องสักการะพุทธบูชาของชาวล้านนา

โดยทั่วไปแล้วตุงที่ใช้ในพิธีกรรมของล้านนาจะแบ่งออกเป็นตุงที่ใชในพิธีที่ถือเป็นศิริมงคล และตุงที่ใช้ในพิธีอุทิศกุศล การจำแนกตุงในการใช้งานสามารภจำแนกได้ดังนี้ ตุงประดับ หมายถึงตุงที่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ ซึ่งมีปอย หรืองานสมโภชฉลองถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความสวยงามและยังใช้เป็นเครื่องหมายนำไปสู่บริเวณงานอีกด้วย

ตุงล้านนา หมายถึงเครื่องใช้ในการประดับหรือใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่งของคนล้านนา คำว่า “ตุง” ตรงกับภาษาบาลีว่า “ปฏากะ” หรือ ธงปฏาก มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุทำจากผ้าหรือไม้ก็ได้ ส่วนปลายจะแขวนห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตุงมีบทบาทและความเป็นมาที่ยาวนาน ดังที่พบในศิลาจารึกที่วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ตอนหนึ่งว่า “…วันนั้นตนท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชน ลูกเจ้า ลูกขุน มนตรี ทั้งหลายยายกัน ให้ถือช่อธง ข้าวตอกดอกไม้ไต้เทียน ตีพาดดังพิณ ฆ้องกลอง ปี่สรไนพิสเนญชัยทะเทียด กาหล แตรสังข์ มานกังสดาร” ซึ่งหมายความว่า ในปีพ.ศ.1913 นั้น “เจ้าท้าวสองแสนมา” หรือ พญากือนา เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยข้าราชบริพารไปรอต้อนรับพระสุมนเถระซึ่งมาจากสุโขทัย ก็ได้ยืนเรียงรายกันถือเครื่องสักการะต่าง ๆ เช่น ถือช่อ คือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และถือธง หรือ ตุง ไปรอต้อนรับและในขบวนยังมีการบรรเลงดนตรีด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ
ตุงที่พบในล้านนาส่วนมากจะทำมาจากผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ทองเหลืองหรือใบลาน ความเชื่อของคนล้านนาเชื่อว่า “ตุง” เป็นสิ่งหนึ่งที่มีส่วนร่วมอยู่ในประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อ ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคล โดยจะมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไป รวมถึงความเชื่อ พิธีกรรมตลอดจนความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย
โดยทั่วไปแล้วตุงที่ใช้ในพิธีกรรมของล้านนาจะแบ่งออกเป็นตุงที่ใชในพิธีที่ถือเป็นศิริมงคล และตุงที่ใช้ในพิธีอุทิศกุศล การจำแนกตุงในการใช้งานสามารภจำแนกได้ดังนี้ ตุงประดับ หมายถึงตุงที่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ ซึ่งมีปอย หรืองานสมโภชฉลองถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความสวยงามและยังใช้เป็นเครื่องหมายนำไปสู่บริเวณงานอีกด้วย
ตุงที่ใช้ตกแต่งสถานที่ได้แก่ ตุงไจย หรือ ตุงชัย ตุงประเภทนี้อาจเรียกต่างกันไปตามคุณสมบัติที่ใช้ เช่น ทำจากผ้าเรียกว่า ตุงผ้า หรืออาจจะทอเป็นตุงใย ส่วนตุงผ้าของชาวไทลื้อนิยมทอด้วยเทคนิคการขิดหรือการจก ซึ่งมีลวดลายที่สวยงามแปลกตา ตุงชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องมีความกว้างและยาวมากนัก อาจจะแบ่งเป็นปล้อง ๆ ประกอบด้วยส่วนหัว ตัวและหาง โดยมีไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะ ๆ มักนิยมตกแต่งด้วยเศษผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น
ตุงกระด้างมีลักษณะเป็นธงตะขาบ ทำด้วยแผ่นไม้ สังกะสี หรือวัสดุอื่น ประดับด้วยลวดลายวิจิตรบรรจง ที่สวนปลายทั้งสองด้านมักจะทำให้แหลมขนาดพอเหมาะใช้แขวนติดกับเสา ลวดลายที่แกะสลักบนตุงกระด้างได้แก่ ลายพฤกษา ลายดอกไม้ ลายนักษัตร สันนิษฐานว่า ตุงกระด้าง เป็นวัฒนธรรมที่ล้านนารับมาจากพม่า ชาวพม่านิยมสร้างตุงกระด้างสำหรับถวายแด่พระรัตนตรัยอย่างถาวร มักถวายเป็นคู่ไว้หน้าพระประธานหรือหน้าอุโบสถ วิหาร บางแห่งทำไว้กลางลานวัดหรือใกล้พระเจดีย์
นอกจากนั้น ยังมีตุงที่ใช้ในพิธีอวมงคล ได้แก่ ตุงสามหาง ใช้นำหน้าขบวนศพไปสุสาน โดยให้คนแบกคันตุงสามหางนำหน้าซึ่งลักษณะรูปร่างคล้ายกับคน จากเอวลงไปแยกออกเป็น 3 แฉก เรียกว่า 3 หาง ตัดด้วยกระดาษสา หรือผ้าขาวกว้างประมาณ 35 ซม. ยาวประมาณ 100 ซม. เหตุที่ต้องทำเป็นรูป 3 หาง มีความหมายถึง กุศลมูล 3 บ้าง อกุศลมูล 3 บ้าง อันหมายถึง วัฏฏวน 3 ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก
ตุงแดง ตุงค้างแดง หรือตุงผีตายโหง มีลักษณะคล้ายกับตุงไจย เป็นตุงสีแดงกว้างประมาณ 1 คืบ ยาวตั้งแต่ 30 ซม.จนถึง 2 เมตร บางทีก็ให้ยาวเท่ากับความสูงของผู้ตาย และปักให้ปลายหางแตะพื้นดิน ใช้ในพิธีสูตรถอนวิญญาณผู้ตายจากอุบัติเหตุตามท้องถนน จะปักไว้บริเวณที่คนตายและก่อเจดีย์ทรายกองเล็ก ๆ เท่ากับอายุของคนตาย
ตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์ จะใช้ประกอบในพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในคืนวันยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือน 12) หรืองานตั้งธัมม์หลวงเดือนสี่เป็ง ส่วนใหญ่ใช้ประกอบอาคารที่มีการเทศน์ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและอานิสงส์ในการถวายตุง ผลดีในการถวายตุงปฏากะนี้ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใบลานชื่อ สังขยาโลก จารด้วยอักษรธรรมล้านนากล่าวว่าหากผู้ใดได้ทานตุงแล้วตายไป อานิสงส์นั้นจะช่วยบันดาลให้หลุดพ้นจากทุกข์เวทนา อานิสงส์แห่งการถวายตุงจะช่วยให้เกาะชายตุงขึ้นสู่สวรรค์ ซึ่งจะเห็นว่า “ตุง” ที่ปรากฏอยู่ในล้านนานั้นมีความหลากหลายทั้งด้านรูปแบบ โครงสร้าง วัสดุและสัญลักษณ์ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ อันนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
10/9/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น