ร้องนายกฯ ถอดใบอนุญาต ใช้สารเคมีการเกษตร 2 ชนิด

กลุ่มเครือข่ายแบนสารเคมีอันตราย จ.เชียงใหม่ รวมตัวยื่นหนังสือผ่าน ผวจ.ถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องพิจารณาการยกเลิก และขอให้ถอดใบอนุญาต ในการใช้สารพิษความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ที่ใช้ในการเกษตร หลังตรวจพบสารเคมีส่งผลกระทบต่อระบบประสาท และสตรีตั้งครรภ์โดยตรง เพื่อความปลอดภัย

เมื่อเวลาประมาณ 09:30 น. วันที่ 19 ก.ย. 60 ที่บริเวณด้านหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มเครือข่ายแบนสารเคมีอันตราย จ.เชียงใหม่ จำนวนร่วม 30 คน นำโดย นายเกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี ผู้ประสานงานเครือข่ายแบนสารเคมีอันตรายฯ ได้เดินทางมารวมตัวกันถือป้าย พร้อมทั้งเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านทาง ผวจ. ถึงนายกรัฐมน ตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกและจำกัดการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ทางด้าน นายเกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี เปิดเผยว่า การเดินทางรวมตัวกันในวันนี้ สืบเนื่องมาจากความไม่เห็นด้วยในเรื่องของการใช้สารเคมีในพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ โดยในส่วนของ จ.เชียงใหม่ เองนั้น จึงอยากเสนอให้มีการแบนสารเคมีที่อันตรายร้ายแรงจำนวน 2 ชนิด คือสารเคมีในกลุ่มของพาราควอต และกลุ่มคลอร์ไพริฟอส โดยอยากให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตในการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ และไม่ให้มีการจำหน่ายในประเทศไทย และอีกส่วนคือการกำกับการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้เป็นสารที่ก่ออันตราย โดยเฉพาะสารเคมีประเภทพาราควอต

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นสารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกี่ยวกับเส้นประสาท และสารคลอร์ไพริฟอส หรือสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลงนั้น เป็นสารที่สามารถตกค้างและมีผลกระทบโดยตรง ต่อสตรีตั้งครรภ์และมีผลต่อพัฒนาการด้านสมองของเด็ก อีกทั้งยังเป็นสารเคมีที่มีความอันตรายมาก

ดังนั้นทางกลุ่มเครือข่ายฯ จึงออกมาแสดงพลัง ที่ไม่เห็นด้วยและขอสนับสนุนมติของคณะกรรมการ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข ที่มีข้อเสนอให้มีการแบนสารเคมีที่มีอันตรายทั้ง 2 ชนิดนี้ ซึ่งกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มารวมตัวกันวันนี้ ก็เป็น  กลุ่มคนที่ผลิตและทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และกลุ่มผู้บริโภค โดยใน 2 กลุ่มนี้ได้เล็งเห็นความสำคัญและอันตรายของสารเคมีดังกล่าว และไม่ใช่เพียงใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น แต่ทั่วประเทศก็ได้มีการดำเนินการแบนสารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามภายหลังการรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือครั้งนี้ ในเวลาต่อมาทางด้าน นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียง ใหม่ ได้เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวจากทางกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเบื้องต้นได้ระบุว่า จากการรับทราบความต้องการของทางกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เบื้องต้นทราบว่า มีสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงที่ใช้ในการเกษตร และส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ผลิตและทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงกลุ่มของผู้บริโภค และมีความต้องการให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำ การแบนและยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายดังกล่าวไป ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้รับเรื่องมาแล้ว ก็จะได้ทำการตรวจสอบพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยรับปากว่าจะมีการเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จสิ้นทางกลุ่มชุมนุมได้พอใจ และแยกย้ายเดินทางกลับ โดยเหตุการณ์เป็นไปอย่างปกติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น