ไทยจับเข่าถก ความมั่นคง อาหารเอเปค

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรบินเวียดนาม ร่วมเวทีการประชุม ในสัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค ชูบทบาทการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ประชารัฐ ด้วยเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เผยมูลค่าการค้าไทยกับกลุ่มเอเปค ช่วง 7เดือนแรก ไทยส่งออกสินค้าเกษตร 5.29 แสนล้านบาท ได้ดุลการค้า 3.64 แสนล้านบาท
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) รวม 21 ประเทศ ซึ่ง สศก. โดยรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ) และคณะ ได้ร่วมเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการใน “สัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค (Food Security Week)” (เมื่อวันที่ 18-25 สิงหาคม 60) ณ เมืองเกิ่นเทอ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการส่งเสริมความมั่นคงอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ สศก. ได้แถลงต่อที่ประชุมให้ทราบถึงการดำเนินการของไทย ในหัวข้อความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยยกตัวอย่างการนำโครงการประชารัฐ มาส่งเสริมเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ สำหรับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แถลงการดำเนินการของตนเองภายใต้กรอบทิศทางของ APEC ด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งต่างให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้แนวทางเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture) เพื่อเพิ่มผลผลิต ให้ความสำคัญเรื่องการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการเกษตร รวมทั้งการสร้างนวัตกรรม ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ไปในทิศทางเดียวกับไทย
นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประชุมได้รับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.แถลงการณ์เกิ่นเทอ มุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาชนบทและเขตเมืองอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงอาหารในภูมิภาค รวมทั้งการบริหารจัดการการสูญเสียอาหาร 2ใแผนปฏิบัติการระยะหลายปีเพื่อความมั่นคงอาหาร ปี 2561-2563เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของสมาชิกเอเปคในการสร้างความมั่นคงอาหารในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3.แผนปฏิบัติการพัฒนาชนบทและเขตเมืองเพื่อความมั่นคงอาหารและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอตัวเพื่อจัดกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว จำนวน 2 เรื่อง คือ 1.การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และ 2.การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงปี 2562-2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าว ยังมี “การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายว่าด้วยความมั่นคงอาหาร” ซึ่งเป็นเวทีของภาครัฐและเอกชนในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ด้านความมั่นคงอาหารของภูมิภาค มีผู้แทนจาก สศก. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม
นางสาวจริยา กล่าวต่อไปว่า โดย สศก. ได้นำเสนอผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน (ศพก.) การวิจัยและพัฒนาเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตเข้าสู่ระบบการจัดการคุณภาพ หรือ GAP เพื่อสินค้าที่มีคุณภาพ และด้านสภาหอการการค้าแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอเรื่องเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ผ่านกลไล “ประชารัฐ”เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบัน มีโครงการประชารัฐ ใน 41 พื้นที่ ครอบคลุม 30 จังหวัด
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับกลุ่ม APEC มีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ยางธรรมชาติ ข้าว น้ำยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง น้ำตาลจากอ้อย ปลาทูนาปรุงแต่ง มันสำปะหลัง ยางแผ่นรมควัน สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง อาหารสุนัขและแมว สินค้านำเข้าสำคัญ คือ ถั่วเหลือง อาหารปรุงแต่ง ปลาโอท้องแถบแช่แข็ง ข้าวสาลี อาหารปรุงแต่งสำหรับทาราก ปลาหมึกกระดองแช่แข็ง ของปรุงแต่งใช้เลี้ยงสัตว์ ซิการ์ นมผงไม่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวาน กากน้ำมันและกากแข็งที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง โดยมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับกลุ่ม APEC ในช่วงปี 2560 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 5.29 แสนล้านบาท นำเข้า 1.65 แสนล้านบาท และมีดุลการค้า 3.64 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย มุ่งการเติบโตทางการค้าและการลงทุน และให้ความสำคัญในการเสริมสร้าง ขีดความสามารถของสมาชิกเอเปคในสาขาต่างๆ ด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม นางสาวจริยา กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น