ชูนวัตกรรมอาหารอนาคต ดันความสามารถแข่งตลาดโลก

สนช. ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศแนวโน้มธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย” (Thailand Food Innovation Trends Announcement) เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากผู้ประกอบการไทย และพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยวิจัยต่างๆ หวังใช้ “นวัตกรรมในธุรกิจอาหาร” เป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สนช. ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศแนวโน้มธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย ซึ่งงานประกาศแนวโน้มนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย และการแข่งขันนวัตกรรมอาหารในเมือง” (Thailand Food Innovation Trends Announcement) มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเกิดการตื่นตัวและหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอาหารของประเทศในอนาคต ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอาหารให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพราะอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดยในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีการส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน และถือว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลกสูงเป็นอันดับ 13 ชักนำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยมากกว่า ประมาณ 830,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้หมดของประเทศ ทั้งนี้ อันเป็นผลจากรากฐานและจุดแข็งของประเทศในด้านปริมาณและความหลากหลายของวัตถุดิบกอปรกับผู้ประกอบการในภาคการผลิตมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีการเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจำต้องให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมไปสู่ “การพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหาร” ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ตั้งแต่การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) และการพัฒนาการบริการในอุตสาหกรรมอาหาร ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและกระแสสังคมทั่วโลกในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการปรับเปลี่ยนไป”
ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการประกาศแนวโน้มนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย เป็นกิจกรรมที่ สนช. มุ่งหวังที่จะเผยแพร่ทิศทางและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงหลักของอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเกิดการรับรู้และตื่นตัว เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์นำร่องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดกระแสแนวโน้มหลัก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งหากได้ลงไปศึกษาในรายละเอียดและเฝ้าติดตามต่อไป ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยน
มาตรการต่างๆ ให้ทันท่วงทีกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 อีกทั้งยังจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการกระตุ้นให้ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อันจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมทั้งในระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก” การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะนำพาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น จำเป็นต้องยกระดับ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบด้วย การยกระดับมาตรฐาน การเพิ่มผลิตภาพในการผลิต และการขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งการแปรรูปอาหาร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ดังนั้นสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จึงร่วมกับ สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดทำแนวโน้มธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพและนวัตกรรม เพื่อร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศไทยมีผลิตภาพการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตไปสู่ระดับโลก ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ในปี 2560 คาดว่าประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2571 และ 4.45 ล้านล้านบาทในปี 2579 กลายเป็นหนึ่งใน 5 ผู้ส่งออกอาหารของโลก หากอุตสาหกรรมอาหารได้รับการยกระดับด้วยมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมทั้งระบบ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สนช. เป็นหน่วยงานหลักที่มีพันธกิจในการเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิต ภาครัฐ และภาคสังคมโดยรวมของประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากผู้ประกอบการไทย และพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยวิจัยต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) ผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและการเงิน โดย สนช. ได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน (Key Corporate in Enhancing National Innovation System towards Sustainable Values) พร้อมพันธกิจหลักใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ 2) สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม และ 3) ยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สนช. ตระหนักอย่างยิ่งว่าการพัฒนา “นวัตกรรม” บนรากฐานของความแข็งแกร่งของประเทศ โดยเฉพาะ “นวัตกรรมในธุรกิจอาหาร” จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ในการนี้ สนช. จึงได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (product innovation) กระบวนการผลิตนวัตกรรม (process innovation) บริการนวัตกรรม (service innovation) และรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (business model innovation) โดยมีเป้าหมายเพื่อ
ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมบนรากฐานที่เป็นจุดแข็งของประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินงานที่กล่าวมานั้นก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิด (แรงกระเพื่อมของ) การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมอาหารของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“สนช. จึงได้ดำเนินการ “ศึกษาและวิจัยเพื่อการบ่งชี้แนวโน้มและการพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งจากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้ สนช. ได้ทราบถึงแนวโน้มการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย 1) ความหลายหลายของประชากร (Demographic Diversity) 2) การขยายตัวของสังคมเมือง (Embracing Urbanization) 3) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาหารเชิงศิลป์ (Rise of Aesthetic Food Technology) 4) เศรษฐกิจวัฒนธรรมอาหาร (Emergence of Food Cultural Economy) 5) วิกฤติการเดินทางของอาหาร (First Mile Crisis) 6) สงครามอาหาร (Food War) ดังนั้น เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนานวัตกรรมตลอดทั้งระบบตามแนวโน้มการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การยกระดับบริการนวัตกรรมด้านอาหาร และการพัฒนานโยบายและกลไกต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชน สนช. จึงได้จัด “งานประกาศแนวโน้มนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทยและการแข่งขันนวัตกรรมอาหารในเมือง (Thailand food innovation trend announcement & Thailand innovative urban food challenge)” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อประกาศให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเกิดการตื่นตัวและหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอาหารของประเทศในอนาคต รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการรับรู้โดยการจัดประกวดแข่งขันนวัตกรรมอาหารในเมือง เพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมด้านอาหารใน ระยะต่อไป ซึ่งการจัดงานจะชักนำให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอาหารภายในประเทศไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอาหารของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้างต่อไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น