แรงงานเชียงใหม่ แจงค่าจ้างขั้นต่ำ

แรงงานจังหวัดเชียงใหม่แจง ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับแรงงานแรกเข้าทำงาน ย้ำชัดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 308 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ส่วนผู้ที่มีทักษะฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน ก.แรงงาน ได้กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัจจุบันได้ประกาศแล้ว 67 สาขาอาชีพ สูงสุดถึงวันละ 800 บาท

เมื่อวันที่ผ่านมา นายมนูญ สุขศรีจันทร์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่อง “กระทรวงแรงงานชี้แจงค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ” ในวาระการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 46/2560 ณ อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

โดย นายมนูญ สุขศรีจันทร์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการกำหนดเพดานค่าจ้างโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงานเฉพาะลูกจ้างคนเดียวที่สมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ เวลานั้นๆ ซึ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรฐานของการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง ทั้งนี้ ระเทศไทยก็ได้นำมาปรับใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่นำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้าง ได้แก่ ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้าง ได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ส่วนปัจจัยทางภาครัฐ ได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม ความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ
และผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อการลงทุน รวมถึงพิจารณาระดับค่าจ้าง โดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เป็นต้น ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการใช้จ่ายการครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค โดยมีคณะอนุกรรมการการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดร่วมกันพิจารณา อันเป็นกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคไม่ใช่การตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

นายมนูญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 จากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี อันประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุมครองแรงงาน พ.ศ. 2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งยังได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในภูมิภาคเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดด้วยเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องยิ่งขึ้น รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาดูความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ สูตรการคำนวณที่เป็นไปตามหลักวิชาการที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ ซึ่งในปี 2561 ได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาใหม่ โดยจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าซึ่งเป็นค่าครองชีพของประชาชนรอบ 1 ปี และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และจังหวัด (GPP) ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) มาเป็นฐานการคำนวณด้วย จึงอยากขอเน้นย้ำว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดไว้เป็นหลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่มีทักษะฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็น ธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัจจุบันได้ประกาศแล้ว 67 สาขาอาชีพ สูงสุดวันละ 800 บาท และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มขึ้นอีก 16 สาขาอาชีพ หากให้ความสำคัญกับมาตฐานฝีมือแรงงานประโยชน์จะเกิดขึ้นทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และประเทศชาติที่กำลังจะเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0

ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 308 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา สำหรับจำนวนค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในปี 2561 ต่อไปนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 โดยมีนายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 15 คน โดยพิจารณาตามกรอบและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 3 กลุ่มหลักเกณฑ์ ได้แก่ การครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงประกอบกับสูตรคำนวณอัตาค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางกำหนดมา และได้เสนอความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561

ให้คณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเรียบร้อยแล้ว แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในตอนท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น