จิตรกรรม “วัดภูมินทร์” ความงามของศิลปช่างสกุลล้านนา

           จิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ถือได้ว่าเป็นผลงานระดับมิสเตอร์พีซของฝีมือช่างสกุลล้านนาที่บรรจงแต่งแต้มเรื่องราวทางพุทธชาดกเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ใครก็ตามที่ไปเยือนเมืองน่านแล้วไม่ได้เที่ยววัดภูมินทร์ถือว่ายังไปไม่ถึงเมืองน่าน เหมือนกับที่มาเที่ยวเชียงใหม่แล้วไม่ได้ไปดอยสุเทพยังไงยังงั้น

“แข่งเรือล้านนา ชมงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ เสาดินนาน้อย แอ่วดอยภูคา ชิมปลาปากนาย ผ้าลายน้ำไหล มะไฟจีนรสดี ลิ้นจี้ชวนลอง ส้มสีทองเมืองน่าน” นี่เป็นคำขวัญทางการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเดินทางมาเยี่ยมชมเสน่ห์ของเมืองล้านนาตะวันออกแห่งนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย

เมืองน่าน หรือ เมืองนันทบุรีศรีนครน่าน เป็นเมืองในโอบล้อมของขุนเขา สมัยก่อนการเดินทางมาเมืองน่านเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเท่าปัจจุบัน ซึ่งสามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์และทางเครื่องบิน

เมืองน่าน เมืองเล็กที่เงีบยสงบซุกซ่อนตัวอยู่ในหุบเขามาเป็นเวลาช้านาน ชื่อเสียงของเมืองน่านในอดีตว่ากันว่าเป็นพื้นที่สีชมพู ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อย่างชุกชุมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังจากที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวขึ้นภายในประเทศ เมืองน่านจึงค่อย ๆ เปิดตัวเองรับกระแสของสังคมภายนอกได้อย่างกลมกลืน ผู้คนในเมืองน่านยังคงดำรงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวน่านไว้ได้อย่างแน่นแฟ้น ภายใต้บวรพุทธศาสนาที่ฝังรากลึกในจิตสำนึกของผู้คน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่มาเที่ยวในเมืองนี้จะเห็นวัดวาอารามต่าง ๆ จำนวนมากจนเรียกได้ว่า วัดชนวัด ก็ว่าได้

ด้วยรูปแบบของศิลปกรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นเอกลักษณ์และภาพเขียนผนังวิหารที่ขึ้นชื่อ ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาเยี่ยมชมศิลปกรรมอันงดงามแห่งนี้อยู่เนื่อง ๆ จิตรกรรมฝาผนังของเมืองน่านที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและอยากให้ผู้คนเดินทางไปชมก็คือ จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดภูมินทร์ ที่ว่ากันว่า เป็นจิตรกรรมชิ้นเยี่ยมของช่างเมืองน่านในอดีต วัดแห่งนี้หาง่ายอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานงาช้างดำคู่บ้านคู่เมือง

ภาพเขียนเหล่านี้เขียนประกอบกับภาพพุทธประวัติและเขียนขึ้นอย่างวิจิตร แม้ว่าจะมีการเขียนตัวเอกเป็นชนชั้นเจ้า แต่งกายด้วยอาภรณ์งามเลิศปิดทองแวววาว แต่ช่างเขียนก็เขียนได้อย่างอิสระ ลักษณะเด่นของภาพเขียนฝาผนังวัดภูมินทร์ก็คือ การใช้เส้นโค้งหรือไม่ก็ใช้สภาพธรรมชาติ เช่นภูเขา โขดหิน เนินดิน เป็นตัวแบ่งเรื่องราว ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของเมืองน่านส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองน่าน รวมทั้งลักษณะการแต่งกายของคนในภาพเขียนที่มีความอ่อนช้อยงดงาม โดยช่างที่วาดจะใช้สดใสเพื่อให้ตัดกันกับสีพื้น จะสังเกตุเห็นว่าภาพผู้หญิงมักจะมีการนุ่งซิ่นกันทุกคน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงชาวน่านโดยแท้

วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวงที่เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ วีรบุรุษคนสำคัญของเมืองน่านเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ.2138 หลังจากที่ได้ครองเมืองน่านมาเป็นเวลาหลายปี สัญลักษณ์ของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ที่ยังคงปรากฏให้เห็นก็คือ ลักษณะพรหมสี่หน้าที่อยู่ในวิหารหลวงซึ่งสร้างเป็นแบบจัตุรมุขมีพระประธานจัตุรทิศคือ พระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย 4 องค์หันพระปฤษฏางค์ชนกัน นับเป็นลักษณะเด่นที่ไม่มีที่ใดในล้านนาเหมือน วิหารหลวงวัดภูมินทร์ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นทั้งพระอุโบสถและวิหารในหลังเดียวกัน จากผนังอาคารในแนวเหนือ – ใต้ ทำเป็นพญานาค 2 ตัวเลื้อยโดยมีพนักกำแพงรองรับ ส่วนในแนวตะวันตก – ตะวันออกมีรูปปั้นสิงห์เฝ้าที่เชิงบันได จึงทำให้เข้าใจว่า ในแนวเหนือ -ใต้นั้นเป็นพระอุโบสถ ส่วนแนวตะวันตก – ตะวันออกนั้นเป็นวิหาร ภายในวิหารหลวงวัดภูมินทร์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างล้านนาที่หาชมได้ยาก ซึ่งเขียนเรื่องคัทธกุมารชาดกและเนมิราชชาดก ซึ่งทั้งหมดอยู่ในปัญญสชาดก รจนาขึ้นโดยพระเถระชาวล้านนาและแพร่หลายทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ

 

ภาพเขียนสกุลช่างล้านนานั้นมีรูปแบบพิเศษต่างไปจากภาพเขียนที่อื่นตรงที่ จะเน้นค่านิยมความงามแบบชาวเหนือ ภาพคนจึงมักมีผิวขาวใบหน้ากลมคิ้วโก่ง ดวงตาค่อนข้างรีและเหลือบแลไปในทิศต่าง ๆ เสมอ ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมไว้ผมมวยสูงและมีปอยผมขมวดเป็นห่วง ส่วนผู้ชายก็ไว้ผมเกล้าแล้วเคียนศรีษะ บางคนก็ตัดผมทรงมหาดไทยและนิยมสักตามตัวตั้งแต่เอวลงไป

นอกจากภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์แล้วยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของวัดหนองบัว อำเภอปัว ที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน  ภาพเขียนของทั้งสองวัดนี้เขียนขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2405 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวน่านในอดีตไปเป็นอย่างดี

เมืองน่าน เมืองสำคัญของล้านนาตะวันออกที่ในอดีตได้ปิดตัวเองมาเป็นเวลาช้านาน วันนี้ของเมืองน่านยังคงมีมนต์เสน่ห์รอคอยให้นักเดินทางเข้ามาสัมผัสถึงธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในเมืองนี้ให้กลับมาคึกคักและไม่หลับไหลอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาอีกต่อไป.
จักรพงษ์  คำบุญเรือง [email protected] 24/9/60

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น