ปวดส้นเท้าแปลกๆ ในเวลาเช้า อาจเข้าข่าย “โรครองช้ำ”

เคยไหม? อยู่ๆก็เริ่มมีอาการเจ็บฝ่าเท้า รู้สึกปวดมากที่สุดเมื่อ “ลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน” นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “รองช้ำ” ก็เป็นได้ … วันนี้เรามาพูดคุยกับ นพ.ศิริชัย ลือวิฑูรเวชกิจ แพทย์ประจำศูนย์โรคปวดหลัง โรงพยาบาลลานนา เกี่ยวกับลักษณะอาการของโรครองช้ำ ว่าเกิดจากอะไร และจะมีวิธีการรักษาได้อย่างไรบ้าง ลองมาติดตามอ่านกันได้เลยครับ

โรครองช้ำ ก็คือ อาการที่เกิดขึ้นจากเอ็นฝ่าเท้ามีการบาดเจ็บ หรืออักเสบ ซึ่งมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณฝ่าเท้าหรือส้นเท้า โดยระยะแรกอาจเกิดหลังจากการออกกำลังกาย เดินนานๆ หรือยืนนานๆ แต่หากอาการมากๆ ผู้ป่วยก็จะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา

รองช้ำ เกิดจากสาเหตุอะไร ใครรู้บ้าง ???? อาการปวดฝ่าเท้า หรือที่มักจะรู้จักกันในชื่อ โรครองช้ำ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักเป็นเวลานาน หรือการใช้งาน เช่น การยืนทำงานเป็นเวลานานๆ รวมทั้งการออกกำลังกาย ที่ต้องใช้เท้ามากๆ เช่น วิ่ง , เตะฟุตบอล เป็นต้น น้ำหนักตัวที่มาก อาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้ ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม การมีปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ รวมทั้งโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ เป็นต้น อาการหลักๆ ของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือ อาการเจ็บที่ส้นเท้าและลามไปทั่วฝ่าเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย อาการปวดจะรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันและ/หรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น

 

การรักษาโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ ทำได้โดยรับประทานยาต้านการอักเสบ หรืออาจจะใช้อุปกรณ์รองรับฝ่าเท้าเวลาที่ต้องเดิน วิ่ง หรือยืนเป็นเวลานานร่วมด้วย เพื่อลดแรงกระแทกกับฝ่าเท้า และสุดท้ายคือการทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค แต่หากปล่อยไว้เรื้อรังนานๆ อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง จนถึงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา”

ร่วมแสดงความคิดเห็น