รายงานพิเศษ : เครื่องผสมเกลือไอโอดีนต้นแบบ จากพระราชดำริ

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทรงทราบว่าราษฎรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีปัญหาขาดสารไอโอดีน ทำให้เป็น “โรคคอพอก” จำนวนมาก

จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมอนามัยหาสาเหตุ และพบว่าเกลือที่ราษฎรบริโภคเป็น “เกลือบก” ที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ จึงมีพระราชดำริให้วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ คิดค้นและสร้างเครื่องผสมเกลือไอโดดีนขึ้น ก่อนแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อผลิตเกลือไอโอดีนให้กับประชาชน

โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเครื่องผสมเกลือไอโอดีนต้นแบบ ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เมื่อปี 2533 ได้พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงเครื่องต้นแบบ ว่าควรให้มีความคงทน และใช้วัสดุราคาถูก ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ไปปรับแก้ ก่อนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องผสมเกลือไอโอดีนเครื่องแรกของไทย ในปี 2536

เกือบ 30 ปี ที่มีพระราชดำริให้จัดสร้างเครื่องผสมเกลือไอโอดีนขึ้น วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้สร้างแจกจ่ายออกไปแล้วมากกว่า 100 เครื่อง ทุกภาคของประเทศ มีกำลังการผลิตวันละ 8 ตันต่อเครื่อง โดยการผสมเกลือไอโอดีน จะใช้เกลือเม็ด 1 กิโลกรัม ผสมโปแตสเซียมไอโอเดท 50 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ยังผลให้วิกฤตผู้ป่วยโรคคอพอกในประเทศไทยหมดไป

ทุกวันนี้ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ยังคงผลิตเครื่องผสมเกลือไอโอดีน โดยใช้ต้นแบบจากเครื่องที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานคำแนะนำ แจกจ่ายต่อไป โดยแบ่งเป็นเครื่องขนาดใหญ่ ใช้ต้นทุนเครื่องละ 70,000 บาท และเครื่องขนาดเล็กเครื่องละ 20,000 บาท สร้างความภูมิใจให้กับนักศึกษาที่ได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง

ความสนพระราชหฤทัยเรื่องปัญหาการขาดสารไอโอดีนของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยราษฎรในทุกแง่มุมอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น